svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมชลฯ​ สั่งทุกเขื่อนชลประทานรับมือฤดูฝน​ เผย​ 4​ เขื่อนใหญ่มีน้ำใช้การได้​ 29%

06 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมชลประทาน พร้อมรับมือและแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 62 หลังทั่วประเทศเริ่มมีฝนตกบ้างแล้ว สั่งทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

6 มิ.ย. 62 - ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 - 9 มิ.ย. 62 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 5 9 มิ.ย. 62 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(5 มิ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 39,252 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 15,326 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,143 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,447 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอจนถึงฤดูฝนส่วนสภาพน้ำท่าในสายหลักต่างๆ ทางตอนบนของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนข้างน้อย เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ แม่น้ำปิงบริเวณ อ.บรรพตพิสัย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร แม่น้ำน่านบริเวณ อ.ชุมแสง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 454 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับให้เฝ้าระวังติดตาม และตรวจสอบอาคาร/ระบบชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังติดตาม และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯด้วย พร้อมทั้งให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการการทำงานร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ รวม 4,850 หน่วย ประจำตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านได้ตลอดเวลา รวมทั้งขอให้ติดตามติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้กำหนดให้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน จำนวน 1 ทุ่ง คือ ทุ่งบางระกำ พื้นที่ 382,000 ไร่ ปัจจุบันได้ส่งน้ำเพื่อให้เริ่มการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 62 เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนเดือน ส.ค.62 หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าว รับน้ำเข้าทุ่งประมาณกลางเดือน ส.ค. 62 สามารถหน่วงน้ำได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 12 ทุ่ง พื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่ ได้เริ่มการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 62 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย. 62 หลังจากนั้น จะใช้พื้นที่ดังกล่าวรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่ ช่วงปลายเดือน ก.ย. 62 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำหลากในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะสามารถหน่วงน้ำได้รวมประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

logoline