svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เมื่อสังคมสงสัย? "การประชุมโหวตนายกฯ" จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

05 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งประวัติศาสตร์วันนี้ เข้าสู่ช่วงในการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงเกือบจะโค้งสุดท้ายของการประชุม แต่หลากหลายคำถามในสังคมกลับมีความสงสัยว่า..จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

การประชุมโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งประวัติศาสตร์วันนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? 

1.การประชุมโหวตนายกฯจะยืดเยื้อหรือไม่? 
- มีความเป็นไปได้ที่จะยืดเยื้อ เหตุผลเป็นเพราะจะมีการเรียกร้องให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ หรือ "แคนดิเดต" ได้แสดงวิสัยทัศน์ แต่เรื่องนี้อาจจะมีปัญหา เพราะไม่มีข้อบังคับระบุเอาไว้ ที่สำคัญ แคนดิเดตทั้ง 2 คน คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ) น่าจะไม่ได้ปรากฏตัวในห้องประชุมสภาทั้งคู่ และหากจะมีการอภิปรายคุณสมบัติ ก็จะมีการโต้เถียงกันวุ่นวายว่าจะอภิปรายได้หรือไม่ โอกาสทะเลาะกันยืดเยื้อมีสูง 
แต่หาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ใช้ความเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้อภิปรายมากนัก ก็มีโอกาสเหมือนกันที่กระบวนการโหวตเลือกนายกฯจะจบเร็ว
2.อภิปรายซักฟอกคุณสมบัติ "แคนดิเดต" ได้หรือไม่?
- ไม่มีข้อบังคับเปิดช่องให้อภิปรายได้ แต่เกมในสภาของขั้วเพื่อไทยที่จะเสนอชื่อนายธนาธร ซึ่งมีปัญหาคุณสมบัติการเป็น ส.ส.อยู่ จะเป็นชนวนให้เกิดการอภิปรายคุณสมบัติ เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็น ส.ส. คือคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเดียวกับการเป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี 
และเมื่ออภิปรายนายธนาธรได้ ก็จะมีสมาชิกหยิบยกคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาอภิปรายเช่นกัน ทั้งสถานะการเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" ซึ่งต้องห้ามเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นหัวหน้าคสช.อยู่จนถึงวินาทีนี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังเคยเป็นผู้นำการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ อาจถูกอภิปรายว่าขัดคุณสมบัติเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม (รัฐธรรมนูญมาตรา 160 วงเล็บ 5) ซึ่งในกฎหมายมาตรฐานทางจริยธรรมที่เพิ่งประกาศใช้ไม่นา ก็เขียนไว้ชัดว่าต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
ประเด็นนี้ก็เริ่มถกเถียงอภิปรายกันเมื่่อไหร่ ประชุมกันยาวแน่ๆ 
3.สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าประชุมได้ตอนไหน? 
ขณะนี้เริ่มมีเสียงทักท้วงว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯเท่านั้น ไม่ได้ให้ร่วมเสนอชื่อ "แคนดิเดต" และร่วมในกระบวนการรับรองรายชื่อ ทำให้เกิดปัญหาว่า ส.ว.เข้าไปนั่งประชุมด้วยได้ตั้งแต่ตอนไหน นี่กืเป็นเอีกเรื่องที่จะถกเถียงกัน 
4.คุณสมบัติ ส.ว. 
จากประเด็นที่ 3 ก็จะมาต่อประเด็นนี้ เมื่อพาดพิง ส.ว. 250 คน ก็จะต้องมีสมาชิกบางคนบางส่วนอภิปรายพาดพิงถึงสถานะการเป็น ส.ว.ที่เป็นมาได้เพราะ คสช.แต่งตั้งเกือบทั้งหมด แล้ววันนี้มาโหวตเลือกหัวหน้าคสช.เป็นนายกฯ เข้าข่ายต่างตอบแทนหรือไม่ 
5.การปรากฏตัวของงูเห่า 
หลายเสียงบอกว่า วันนี้งูเห่าจะเพ่นพ่าน และจะเปิดตัวกันเสียทีตอนโหวต เพราะการลงมติต้องขานชื่อ และขานมติให้ได้ยินได้ฟังกันชัดๆ 
แต่บางเสียงก็ท้วงว่า งูเห่าอาจไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวให้หมดอนาคตทางการเมือง เพราะการเป็นนายกฯ ใช้เสียง 376 เสียง ถ้า ส.ว. 250 คนเทเสียงให้ ก็จะใช้เสียง ส.ส.แค่ 126 เสียงเท่านั้น ใช้เสียงจากพรรคที่เปิดตัวร่วมกับพลังประชารัฐแล้วก็เพียงพอ ส่วนงูเห่าเก็บไว้ใช้ตอนโหวตกฎหมายสำคัญ 
สิ่งที่น่าจับตามากกว่า คือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทั้งตัว นายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และกลุ่มผู้สนับสนุนราวๆ 10 คน จะโหวตไปในทางไหน หรือจะกลายเป็น "งูเห่าโดยสภาพ" ของขั้วเพื่อไทยให้ได้ฮือฮากัน 
แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการโหวตที่โหวตเฉพาะนายกฯ ไม่ได้โหวตตั้่งรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีเฉพาะของรัฐธรรมนูญนี้่ ทำให้เอกภาพของเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองมีความสำคัญน้อยลง แต่อาจไม่มีใครแคร์เท่าไรว่าประชาธิปัตยเสียงแตก (พรรคแตก) หรือไม่ เพราะถึงอย่างไร "ลุงตู่ก็นอนมา" 
ประเด็นหลักๆ ทั้งหมดนี้ ทำให้การประชุมรัฐสภาวันนี้ ได้รับการคาดหมายจากคอการเมืองว่า...จะดุเดือดเลือดพล่านอย่างแน่นอน!

logoline