svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทางการเมือง ที่มีทั้งเสียงหัวเราะ และน้ำตาลูกผู้ชาย ของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

05 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชื่อของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ติดแบรนด์พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเปิดตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองมาแต่ต้น และเส้นทางการเมืองตลอด 27 ปี ภายใต้ชายคา ปชป. อภิสิทธิ์ได้ผ่านสถานการณ์มาทุกรูปแบบ จากดาวรุ่งพุ่งแรง ผ่านจุดสูงสุด จุดต่ำสุด ที่มีทั้งเสียงหัวเราะ และน้ำตาลูกผู้ชาย

ปี 2535 อภิสิทธิ์ ได้รับการผลักดันจาก "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหัวหน้า ปชป.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยงานด้านวิชาการ เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และในปีเดียวกันพรรค ปชป.ส่งอภิสิทธิ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร ด้วยวัยเพียง 27 ปี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น อภิสิทธิ์เป็นผู้สมัครของ ปชป.เพียงคนเดียว ที่ได้รับการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร และเป็น ส.ส.อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นด้วยหลังจากนั้น อภิสิทธิ์มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 คัดค้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีส่วนในการเสนอกฎหมายสำคัญๆ มามากมายอภิสิทธิ์ สั่งสมบารมีในพรรค จนสมาชิก ปชป.ให้ความยอมรับนับถือจนกระทั่งปี 2548 หลังจากที่ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" นำพรรค ปชป.พ่ายให้พรรคไทยรักไทยในศึกเลือกตั้ง
อภิสิทธิ์ ได้เดินนำพรรค ปชป.ลงสู้ศึกเลือกตั้งในฐานะ "แม่ทัพ" ครั้งแรก ในช่วงการเลือกตั้งปี 2550 ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ซึ่งอภิสิทธิ์นำพรรค ปชป.กวาด ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 162 ที่นั่ง แต่ก็แพ้ให้พรรคพลังประชาชน ที่ได้ ส.ส.256 ที่นั่ง
ทว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ "สมัคร สุนทรเวช" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และส่งผลให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่จำนวนเสียงในสภาฯ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหนุนให้อภิสิทธิ์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยแพ้ให้กับ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์"ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ "ยุบ 3 พรรคการเมือง" รวมถึงพรรคพลังประชาชน ส่งผลให้ "สมชาย" พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกันใหม่
"สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรค ปชป.ในขณะนั้น ผู้ที่ประกาศชัดว่า จะทำทุกอย่างเพื่อให้อภิสิทธิ์ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เปิดดีลลับกับ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เริ่มแตกคอกับแกนนำพรรคพลังประชาชน หอบ ส.ส.33 เสียง โหวตส่งให้ "อภิสิทธิ์" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย
แต่ 2 ปี 231 วันของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะต้องเผชิญกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างต่อเนื่อง
ครั้งแรกเดือน เม.ย.2552 หรือ"สงกรานต์เลือด" อภิสิทธิ์ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุม โดย "รัฐบาล-ตำรวจ-กองทัพ" สามารถควบคุมการชุมนุมเอาไว้ได้ แม้การชุมนุมจะขยายวงจากพื้นที่กทม.-ปริมลฑล ไปยัง จ.ชลบุรี ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต้องล่มไปด้วยต่อด้วยการชุมนุมของ กลุ่ม นปช. ปี 2553 ซึ่งมีการเตรียมการมาดีกว่าเดิม ฝั่ง "อภิสิทธิ์" ที่มีกองทัพเป็นแบคอัพให้ ปักหลักสู้กับกลุ่ม นปช.อย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 2 เดือน ทว่าการชุมนุมครั้งดังกล่าว ทำให้อภิสิทธิ์ต้องเสียน้ำตาลูกผู้ชาย ด้วยเหตุการณ์ที่กลุ่ม นปช.ซึ่งชุมนุมปักหลักแยกราชประสงค์ บุกไปชุมนุมถึงหน้าบ้านพัก ในซอยสุขุมวิท 31 ขณะที่อภิสิทธิ์นั่งบัญชาการควบคุมการชุมนุมอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
อภิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ถึงค่ำคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ว่า "ขอสารภาพว่า ต้องร้องไห้อยู่นานมาก คิดอะไรก็ไม่ตก คนที่ให้สติคือภรรยา แนะนำว่า อาสามาทำงานแล้ว เมื่อมีปัญหาต้องแบกรับและเดินหน้าต่อไปให้ลุล่วง ห้ามหนีปัญหา"

ในที่สุด ก็สามารถควบคุมการชุมนุม และสลายม็อบลงได้
อภิสิทธิ์ตัดสินใจยุบสภา หลังคำนวณปัจจัยทางการเมืองแล้วเห็นว่า มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งปี 2554 แต่กลับแพ้เลือกตั้งขาดลอย ได้ ส.ส.159 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.265 ที่นั่ง ทำให้อภิสิทธิ์ ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ก็ได้รับเสียงสนับสนุนให้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม
จากนั้นปี 2556-2557 เมื่อ "สุเทพ-ส.ส.ปชป." นำประชาชนเดินเกมบนถนน เพื่อขับไล่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จากกรณีที่เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ อภิสิทธิ์ตัดสินใจบอยคอตด้วยการไม่ส่ง ส.ส.ปชป.ลงเลือกตั้ง

แต่การชุมนุมของ "สุเทพ-กปปส." ได้ยืดเยื้อ จนนำมาสู่การทำรัฐประหาร โดย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น
หลัง "พล.อ.ประยุทธ์-คสช." มีคำสั่ง คสช.ให้รีเซ็ตพรรคการเมือง คัดเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคกันใหม่ ในปี 2561 ปชป.ได้หยั่งเสียงสมาชิกทั่วประเทศ ซึ่ง "อภิสิทธิ์" ได้รับความไว้วางใจให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.อีกครั้ง
จุดเปลี่ยนของอภิสิทธิ์ คือการประกาศตัวก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 24 มี.ค. ด้วยคำพูดว่า "ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี" และสัญญาที่ว่า "หากพรรค ปชป.ได้ ส.ส.ต่ำร้อย จะขอลาออกจากตำแหน่ง"
ผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. พรรค ปชป.ได้ ส.ส. เข้าสภาเพียง 53 ที่นั่ง ทำให้ "อภิสิทธิ์" ประกาศลาออกจากตำแหหน่งหัวหน้าพรรคทันที ต่อด้วยการตัดสินใจของ "แกนนำปชป." เข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งสวนทางกับแนวทางที่ "อภิสิทธิ์" เคยประกาศเอาไว้
ในที่สุด "อภิสิทธิ์" ได้ตัดสินใจประกาศลาออกจาก ส.ส. เพื่อรักษาคำพูดที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง ในวันที่ 5 มิ.ย.2562 ในวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
อาจเป็นการประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ของ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เพื่อรอวันกลับมา ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

logoline