svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สผ.จี้ รฟท.ส่งข้อมูลผลกระทบ 'ไฮสปีด' 3 สนามบิน

04 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. วรวุฒิ มาลา ระบุ รฟท.ตั้งเป้าลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ในโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือกระบวนการสำคัญที่ต้องเร่งรัด 2 ส่วน คือการจัดทำแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ

ขณะที่เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. รวีวรรณ ภูริเดช ระบุ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. อยู่ระหว่างพิจารณาร่างอีไอเอไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกันหลายรอบแต่ยังไม่มีข้อสรุป

ในการประชุม คชก.ครั้งล่าสุด ที่ประชุมให้บริษัทที่ปรึกษาส่งข้อมูลการดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มใน 2 ประเด็น คือ 1.ผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของโครงการ และ2.ผลกระทบทางเสียง ซึ่งจะมีผลต่อชุมชนรอบโครงการทั้งในช่วงก่อสร้างและการเดินรถ 

โดยที่ปรึกษาต้องทำรายละเอียดการป้องกันเสนอที่ประชุมพิจารณา เช่น การสร้างกำแพงป้องกันเสียงบริเวณสถานีและบริเวณที่ผ่านชุมชน หากได้ข้อสรุปจะเสนอคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป

ขณะที่ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ศุภชัย เจียรวนนท์ ระบุ กลุ่มซีพีพร้อมจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือเอสพีวี เพื่อลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ รฟท.ในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนด้านเงินลงทุนยังอยู่ระหว่างการจัดหาและเร่งระดมทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก 

สำหรับเอสพีวีที่จะจัดตั้งต้องมีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการทั้งด้านการออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง การติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง การเดินและการบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง และการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์บริเวณสถานี

โดยเอสพีวีจะต้องมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นมากกว่า 25% รวมทั้งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งก่อนเริ่มเดินรถต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท

logoline