svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

Pride Month ที่ชาว LGBTQ ไทยยังไม่ Pride?

03 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่น่าเชื่อว่า เพิ่งจะเริ่มต้นเดือนมิถุนายน 2019 ก็มีความพิเศษมากมายเกิดขึ้นพร้อมกันสำหรับชาว LGBTQ ที่ทำงานหรือสนใจในวงการแฟชั่นโลก ซึ่งเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองให้กับชาว LGBTQ ทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Pride Month

ความพิเศษแรกก็คือ โดยไม่ได้นัดหมาย(หรือจะนัดหมาย?)มีประวัติศาสตร์ใหม่เกิดขึ้นในวงการแฟชั่นโลกในเดือนนี้ เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่นิตยสาร Elle US กับ Elle Mexico June 2019 นำ"นางแบบข้ามเพศ"มาขึ้นปกพร้อมกันทั้งสองเล่มในเดือนเดียวกัน!


Elle US นำนางแบบ,นักแสดง Indya Moore มาขึ้นปก ที่ก่อนหน้านี้ เธอคนนี้เพิ่งได้รับเลือกให้เป็น "1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสาร Times"ประจำปี 2019 มาหยกๆ

Pride Month ที่ชาว LGBTQ ไทยยังไม่ Pride?

แถม Indya ยังเป็นนางแบบข้ามเพศที่เป็น "Black Model" อีกต่างหาก ดังนั้น ทุกอย่างที่เธอทำได้ จึงเป็นครั้งแรกของสาวข้ามเพศที่เป็นคนผิวดำด้วย ทั้งการกลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพล และเป็นนางแบบข้ามเพศผิวดำคนแรก ที่ได้ถ่ายแอดแคมเปญของ Louis Vuitton

ส่วน Elle Mexico เดือนเดียวกันนี้ก็นำนางแบบข้ามเพศสุดเซ็กซี่ Valentina Sampaio ชาวบราซิล มาขึ้นปก แถมยังอุทิศเนื้อหาแฟชั่นหลักภายในเล่มให้กับชาว LGBTQ ทั้งหมด โดยพิมพ์ตัวใหญ่บนหน้าปกว่า No Gender Issue หรือ"ฉบับไร้เพศ"

Pride Month ที่ชาว LGBTQ ไทยยังไม่ Pride?

แล้วก็เกิดความบังเอิญแบบสุดๆอีกเช่นกัน เมื่อผู้ชนะคนล่าสุดของรายการ The Face Thailand ซีซั่น 5 ก็เป็น"นางแบบข้ามเพศ"คือ"น้องแคนดี้" ที่แคนดี้ก็มาได้ตำแหน่งเอาในช่วงที่เป็นเดือนดีๆซึ่งเป็น Pride Month สำหรับชาว LGBTQ ที่จะมีการฉลองกันทั่วโลกตลอดเดือนมิถุนายนนี้พอดี

Pride Month ที่ชาว LGBTQ ไทยยังไม่ Pride?

แต่สำหรับบ้านเรา แม้ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะมีการเปิดกว้างทางโอกาสและยอมรับชาว LGBTQ มากขึ้นแล้ว แต่เมื่อว่ากันถึงในแง่มุมของกฏหมาย กฏหมายไทยยังปิดกั้นโอกาสของชาว LGBTQ อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน และการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อที่ยังทำไม่ได้ ที่เหล่า LGBTQ ชาวไทยได้แต่มองตาปริบๆ เมื่อได้ยินข่าวว่า ประเทศแล้วประเทศเล่าต่างทยอยอำนวยความสะดวกทางกฏหมายเหล่านี้ให้กับชาว LGBTQ ที่เป็นประชาชนของเขา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความพยายามผลักดันให้ประเด็นนี้ประสบความสำเร็จ เพราะล่าสุด ได้มีการเปิดให้ทุกคนลงชื่อ เพื่อผลักดันพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Foundation of Transgender Alliance for Human Rights) ได้สร้างแคมเปญรณรงค์เพื่อร้องเรียนไปยังกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย


โดย ณิชนัจทน์ สุดลาภา หรือ "ซารีน่า ไทย" ผู้หญิงข้ามเพศ อาชีพนางแบบ ที่เธอเคยขึ้นรันเวย์เดินแบบในงานนิวยอร์คแฟชั่นวีคหลายครั้ง ได้เล่าถึงความยากลำบากในชีวิตกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้น จากปัญหาเรื่องข้อมูลเพศในข้อมูลทะเบียนราษฎร ที่ไม่รับรองให้กับคนข้ามเพศ


Pride Month ที่ชาว LGBTQ ไทยยังไม่ Pride?

.
ปัญหาการใช้บริการสถานที่ต่างๆ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เธอได้ไปสถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท จากการตรวจบัตรประชาชนพบว่า "นาย" จึงพูดเสียงดังต่อหน้าผู้คนจำนวนมากว่า "Lady boy" และกล่าวว่ามาทำเรื่องเสื่อมเสีย หรือสร้างปัญหา และปฏิเสธไม่ให้เข้าใช้บริการในสถานบันเทิง
ปัญหานี้พบซ้ำๆ ทั้งกรณี การเข้าพักโรงแรม และการใช้บริการอื่นๆ - "บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต่างถูกจำกัดการเข้ารับบริการสถานบันเทิง โรงแรม เพียงเพราะเราใช้ชีวิตตามอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด"
.
ปัญหาในการเดินทางของคนข้ามเพศ
ซารีน่าเล่าว่าเธอจะไปท่องเที่ยวกับครอบครัวที่จีน แต่เมื่อในหนังสือเดินทางของเธอมีคำนำหน้าระบุ "นาย" แต่มีรูปลักษณ์เป็นผู้หญิง ทำให้จะมีปัญหากับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และจะถูกห้ามเข้าประเทศ สู่การบังคับให้เปลี่ยนการแสดงออกทางเพศในผู้หญิงข้ามเพศก็เช่น
ต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย ไม่แต่งหน้า และรวบผม เป็นต้น


ปัญหาในการดำเนินธุรกรรมด้านเอกสารต่างๆ
เมื่อคำนำหน้านามที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพ ปัญหาความยุ่งยากก็เกิดขึ้น ซารีน่าเล่าให้เห็นปัญหานี้จากเหตุการณ์ของเธอเมื่อไปต่ออายุใบขับขี่ก็ต้องถูกสั่งให้รวบผม ซึ่งมันเป็นการบังคับการแสดงออกทางเพศซึ่งเป็นสิทธิที่พึงมีของทุกคน
.
ปัญหาเรื่องการใช้บริการสุขภาพที่โรงพยาบาลของรัฐ
เมื่อยึดการบริการตามคำนำหน้าชื่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาคือการโดนบังคับให้คนข้ามเพศไปนอนพักในเพศที่ไม่ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา
.
ถึงเวลาแล้วที่จะให้สิทธิพื้นฐานนี้แก่คนข้ามเพศ
ซารีน่าเล่าให้เห็นอุปสรรคในกรณีผู้หญิงข้ามเพศของเธอว่า "นาย" ซึ่งไม่สอดคล้องกับเพศภาพในปัจจุบัน เป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาและสร้างให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้บริการสาธารณะ รู้สึกอับอายต่อหน้าสาธารณชน รู้สึกถูกมองว่าเป็นอาชญากร ถูกดูถูกเหยียดหยาม กล่าวหาอย่างเหมารวมว่าเป็นตัวปัญหา ถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ไม่มีอิสรภาพและเสรีภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ว่า "ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในปฏิญญา โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ"

ร่วมเข้าไปลงชื่อของท่านเพื่อผลักดันเรื่องนี้ได้ที่https://bit.ly/2WGW90p

logoline