svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ภาคปชช. หนุน​ "ร่างพ.ร.บ.สารเคมี" ​ คุมพาราควอต​ ยกเลิก​ "พ.ร.บ.วัตถุ​อันตราย"

31 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมีผ่านเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสารเคมีฉบับใหม่ที่จะไปยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งจะทำให้การควบคุมสารเคมีอันตรายต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

31 พ.ค. 62 - ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นางสาว ปรกชล อู๋ทรัพย์ ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ บอกว่า ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้โดยเฉพาะองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ 2535 เป็นโครงสร้างและองค์ประกอบที่ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการดังกล่าวได้ ทำให้การยกเลิกสารเคมีอันตรายในประเทศไทยอย่างเช่น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส ไม่สามารถจะทำได้เนื่องจากติดปัญหาอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการและผู้แทนจากอุตสาหกรรมเคมี เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ภาคปชช. หนุน​ "ร่างพ.ร.บ.สารเคมี" ​ คุมพาราควอต​ ยกเลิก​ "พ.ร.บ.วัตถุ​อันตราย"



การพัฒนากฎหมายสารเคมีขึ้นใหม่นี้จะนำไปสู่การยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ 2535 เราจะเปลี่ยนชื่อกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติสารเคมี โดยจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่จะครอบคลุมการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจรทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน นำกลับเข้ามา ส่งกลับออกไป มีไว้ในครอบครอง ขาย ขนส่ง ใช้บำบัด กำจัด ทำลาย และนำกลับมาใช้อีก รวมถึงการรับคืนซากภาชนะ หรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์สารเคมี เพื่อนำไปบำบัด กำจัด ทำลาย หรือนำกลับมาใช้อีก

เครือข่ายภาคประชาชน จึงสนับสนุนการแก้กฎหมายสารเคมีในครั้งนี้ และมีข้อเสนอว่าหลักการของกฎหมายควรประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 4 ประการคือ 1 หลักการป้องกันไว้ก่อน ระบุว่าสารเคมีที่มีจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีการจำหน่ายในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือประเทศต้นทางด้วย และลดการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

2 หลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและการปลอดจากการมีส่วนได้เสีย 3 หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส และ 4 หลักการเพิ่มความหลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต

ซึ่งหลักการป้องกันไว้ก่อนที่ระบุให้สารเคมีที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องจำหน่ายในประเทศต้นทางทำให้ สารกำจัดศัตรูพืชเช่นพาราควอตไม่สามารถจำหน่ายในไทยได้ เพราะประเทศต้นทางอย่างสวิตเซอร์แลนด์แบนพาราควอตไปนานแล้ว

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติสารเคมี อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นโดยคาดว่า ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่จึงจะสามารถพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ได้ ขณะเดียวกันก็มีผู้คัดค้านจากทางฝั่ง ของอุตสาหกรรมเคมีที่สนับสนุน พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ 2535 ให้ยังคงอยู่ต่อไป.

logoline