svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ลุงตู่" ยังถือแต้มต่อ

30 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พรรคพลังประชารัฐ ยังเดินหน้าต่อในการจัดตั้งรัฐบาลและยืนยันเสนอชื่อ"ลุงตู่" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีการขลุกขลักไปบ้าง จากกรณีที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ วงแตก ยกเลิกการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรค กับ ส.ส. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อตัดสินใจทางการเมืองของพรรคว่า จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อวาน( 30 พ.ค) พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ก็ยกคณะไปเทียบเชิญพรรคพชาติไทยพัฒนา ที่มี ส.ส.

"ลุงตู่" ยังถือแต้มต่อ


10 ที่นั่ง เข้าร่วมรัฐบาล แม้ว่าจะเดินทางมาเทียบเชิญช้าไปหน่อย และก่อนหน้านี้ถูกนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาขู่ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นฝ่ายค้านอิสระก็ได้ เพราะเมื่อเสนอไปแล้ว ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปโดยราบรื่น และพรรคพลังประชารัฐ ก็จะเดินทางไปเชิญพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลต่อ
การเดินหน้าต่อของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ สอดคล้องกับข่าวที่ว่ามีการส่งสัญญาณจาก"ผู้ใหญ่"ในรัฐบาลปัจจุบัน ให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นรูปแบบของการเมืองมากขึ้น โดยมีนายอุตตม และนายสนธิรัตน์ เป็นผู้ดำเนินการ และสอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของพรรคการเมือง อีกทั้งยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่นายอุตตม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การดำเนินการและตัดสินใจทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปตามระบบของพรรคพลังประชารัฐโดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนเมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายแล้ว นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาพิจารณาในส่วนของคณะรัฐมนตรี
สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนนี้ จะมีใครบ้างที่มีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากว่ากันตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูจากบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองนั้นจะต้องได้จำนวน ส.ส. จากการเลือกตั้งคิดเป็น 5 % ของจำนวน ส.ส. ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 500 คน ซึ่งก็คือ 25 ที่นั่ง

"ลุงตู่" ยังถือแต้มต่อ


ดังนั้นก็จะมีพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา , พรรคประชาธิปัตย์ ก็คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,พรรคภูมิใจไทย คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล , พรรคเพื่อไทยมี 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ และพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ แม้ว่าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากกรณีถูกกล่าวหาว่า ถือหุ้นสื่อ แต่ก็ยังมีสิทธิเป็นนายกฯได้
ซึ่งเมื่อดูจากรายชื่อแคนดิเดตนายกฯทั้งหมดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสได้รับการโหวตจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าใครเพื่อน เพราะว่าหากแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ขณะนี้"ขั้วพรรคพลังประชารัฐ "มีอยู่ประมาณ 254 เสียง ส่วน"ขั้วเพื่อไทย" มีประมาณ 245 เสียง ห่างกันอยู่แค่ประมาณ 9 เสียง ซึ่งอาจมองว่ามากกว่ากันเล็กน้อย แต่เมื่อนำเสียงของ"ขั้วพรรคพลังประชารัฐ" ไปรวมกับ ส.ว. ซึ่งมีถึง 250 เสียง ซึ่ง ส.ว. สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯอยู่แล้ว เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ เลือกมากับมือ พล.อ. ประยุทธ์ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน
อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐ จะใช้แนวทางเลือกโหวตนายกรัฐมนตรีไปก่อน แล้วค่อยจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง ก็ต่อเมื่อไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวกับ"พรรคตัวแปร" อย่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย โดยโหวตนายกฯ ก่อนแล้วค่อยคุยกับสองพรรคดังกล่าวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อในภายหลัง
และเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโหวตจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ล็อกเวลาว่าจะต้องจัดตั้งคณะรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกฯเต็มตัว "รัฐบาล คสช." ยังมีอำนาจบริหารเต็มและไม่ใช่ "รักษาการ" เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อน เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และอำนาจ คสช. ก็ยังอยู่ เนื่องจากมาตรา 265 บัญญัติว่า ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก จะเข้ารับหน้าที่
หรือถึงที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ เห็นว่าถึงทางตัน ไม่มีหนทางจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้หรือ จัดตั้งได้ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คงอยู่ได้ไม่นาน ก็ยังมีไพ่ใบสุดท้ายถืออยู่ คือ อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการที่ พล.อ. ประยุทธ์ สั่งยุบสภา ล้างไพ่เลือกตั้งกันใหม่ได้ เพราะว่า ถ้าขืนยอมตาม"พรรคตัวแปร" มากเกินไป ภาพมันจะชัดเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมทุกอย่างเพียงเพื่อแลกคะแนนเสียงสืบทอดอำนาจ

"ลุงตู่" ยังถือแต้มต่อ


ส่วนโควต้ากระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ทาง"ขั้วพรรคพลังประชารัฐ" คุยกันเอาไว้ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ มีดังนี้
พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะได้ สำนักนายกรัฐมนตรี,กลาโหม,คลัง, ต่างประเทศ, ศึกษาธิการ,มหาดไทย,พลังงาน,กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม,อุตสาหกรรม,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,วัฒนธรรม,ยุติธรรม
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ รองนายกฯ ,เกษตรและสหกรณ์, พาณิชย์,พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีช่วยอีก 4 ตำแหน่ง
พรรคภูมิใจไทย จะได้ สาธารณสุข,คมนาคม ,ท่องเที่ยวและกีฬา
พรรคชาติไทยพัฒนา จะได้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะได้ กระทรวงแรงงาน
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ วงแตก ต้องเลื่อนการมีมติว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐหรือไม่ แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเรื่องของโควต้ากระทรวง นี่เอง เพราะทางพรรคพลังประชารัฐ ต้องการได้กระทรวงเกรดเอ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คืน โดยขอเอากระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงพลังงานมาแลกกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ ปฏิเสธไม่ยอมโดยยืนยันว่าจะต้องได้กระทรวงตามที่ตกลงรับปากกันไว้ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น

"ลุงตู่" ยังถือแต้มต่อ


ส่วนทาง"ขั้วพรรคเพื่อไทย" ได้หารือและเห็นร่วมกันว่า แคนดิเดตนายกฯ ที่ทั้ง 7 พรรคร่วมจะเสนอให้รัฐสภา โหวต ควรมาจากพรรคเพื่อไทย เพราะถือเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด โดยไม่ว่าแพ้หรือชนะในการโหวตเลือกนายกฯ ก็ต้องแสดงจุดยืนเรื่องกติการะบอบประชาธิปไตย ส่วน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังมีการถกเถียงกันในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการที่นายธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งห้ามให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จึงต้องตัดชื่อนายธนาธร ทิ้งไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
และแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยที่จะเสนอนั้น ตอนนี้เหลืออยู่ 2 คน คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ หากนายชัชชาติไม่รับก็เป็นชื่อของนายชัยเกษม ส่วน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ นั้น เจ้าตัวปฏิเสธทั้งในที่ประชุมและต่อสาธารณะไปแล้ว จึงไม่เสนอชื่อ แม้ว่าจะมีชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ อยู่ด้วยในบัญชีชื่อนายกฯของพรรคก็ตาม
สรุปว่า เกมการเมือง ก็ยังเดินไปตามรอยเดิมๆ กับการต่อรองเก้าอี้และผลประโยชน์ทางการเมือง หากจัดสรรกันลงตัวเมื่อไหร่ ก็จัดตั้งรัฐบาลได้ราบรื่น

logoline