svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชี้เพิ่มโทษไม่ช่วยลดปัญหา"ข่มขื่น" เสี่ยงเหยื่อเสียชีวิตเพิ่ม

30 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มโทษข่มขืนมีผลบังคับใช้แล้ว โดยบัญญัติโทษสูงสุดคือประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตในกรณีที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต รวมถึงการใช้วัตถุกระทำกับอวัยวะเพศของผู้อื่นไม่ถือเป็นการข่มขืน แต่ถือเป็นการทำอนาจารที่มีโทษเทียบเท่ากับการข่มขืนด้วย โดยประเด็นสำคัญในการแก้กฎหมายฉบับนี้ที่สังคมตั้งคำถามคือ การเพิ่มโทษข่มขืนจะแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศให้ลดลงหรือไม่ ไปติดตามรายงานกับชุตินันท์ เพชรากานต์ ครับ

ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากสถิติความรุนแรงทางเพศในปี 2560 ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่ามีทั้งหมด 317 ข่าว ประเภทข่าวที่มาเป็นอันดับ 1 คือ ข่าวข่มขืนที่สูงถึงร้อยละ 48 จึงทำให้มีเสียงของประชาชนเรียกร้องให้เพิ่มโทษคดีข่มขืนให้แรงขึ้น ตลอดจนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ในเรื่องการเพิ่มโทษคดีข่มขืนหรือกระทำชำเราที่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต และยังมีการเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดในมาตราต่างๆ ให้มีโทษทั้งจำและปรับที่หนักขึ้นอีกด้วย

กฎหมายฉบับเดิมระบุนิยามบ้างมาตราว่า การกระทำชำเรา หมายถึง การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปากหรือใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักกับผู้อื่น แต่กฎหมายใหม่ระบุว่า การกระทำชำเรา หมายถึง การกระทำเพื่อสนองความต้องการใคร่ของผู้กระทำ โดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่ามาตรานี้ไม่ครอบคลุมเพราะทุกวันนี้พฤติกรรมการข่มขืน กระทำชำเรามีมากกว่าการใช้ อวัยวะเพศ ปาก หรือทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้นิ้ว หรือ ของบางอย่างสอดใส่เข้าไปได้เหมือนกันนอกจากนี้ยังมองว่า แม้จะมีบทลงโทษที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศลดลง เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และอาจจะทำให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ทว่าเป้าหมายของการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลซึ่งถูกกระทำทางเพศกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ"เด็ก" ที่ไม่มีโอกาสสู้หรือปกป้องตนเองได้เลย

logoline