svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สถิติ "ทีแคส" สะท้อนเทรนด์เด็กรุ่นใหม่ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทย

29 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ "ทีแคส" หรือการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 รอบ 4 แอดมิชชั่นส์ ไปเมื่อเวลา 18.00 น.ของวานนี้ (28 พ.ค.2562)

ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกที่หน่วยงานรับสมัคร อย่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการจัดทำสถิติการรับสมัครทีแคส ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์จำนวนผู้เรียน มีความสอดคล้องกับที่นั่งในมหาวิทยาลัยหรือไม่.. และมหาวิทยาลัยไทยควรปรับตัวอย่างไรต่อไป
เมื่อย้อนกลับไปดูการรับสมัครเด็กเข้ามหาวิทยาลัยไทยนั้น สัดส่วนระหว่างที่นั่งในมหาวิทยาลัยกับเด็กที่ต้องการเข้าเรียน คงเรียกได้ว่า ต้องแย้งชิงกัน เพราะอดีตจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำนวนจำกัดเกินกว่าที่จะรับเด็กทุกคนเข้าเรียนได้ แตกต่างกัน 1-2 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิงจากข้อมูลการรับสมัคร "ทีแคส" ปีการศึกษา 2561 ปีแรกของการเปลี่ยนระบบมาเป็นทีแคส และมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นจนเกิดกระแส #เด็ก61 #หนูทดลอง พบว่า ยอดสมัครและที่นั่งว่างในแต่ละรอบนั้น มีเหลือเฟือให้เด็กได้เลือกคณะ มหาวิทยาลัยตามที่ตนเองต้องการ แถมมีให้เลือกถึง 5 รอบ โดยรอบ 1 แฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ซึ่งมีการเปิดรับ 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1/1 เปิดรับ 107,765 คน สมัคร 134,859 คน ยืนยันสิทธิ์ 39,847 คน รอบที่ 1/2 เปิดรับ 60,726 คน สมัคร 64,828 คน ยืนยันสิทธิ์ 25,476 คน ส่วนรอบที่ 2 โควตา รับ 140,437 คน สมัคร 357,252 คน ยืนยันสิทธิ 51,896 คน รอบที่ 3 รับตรงกลางร่วมกัน รับ 95,124 คน มีจำนวนผู้สมัคร 119,871 คน ยืนยันสิทธิ์ 108,121 คน รอบที่ 4แอดมิชชั่น รับ 119,484 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ 44,476 คน และรอบที่5 รับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการรับตรงเอง ไม่มีการแจ้งตัวเลขมายังทปอ.
ขณะที่ยอดสมัคร ทีแคส ปีการศึกษา 2562 นั้น พบว่าตั้งแต่รอบที่ 1 แฟ้มสะสมงาน (Pofolio) รับ 129,247 คน สมัคร 134,723 คน ยืนยันสิทธิ 58,364 คน คิดเป็น 44.85% รอบที่ 2 โควต้า รับ 99,320 ยืนยันสิทธิ 51,213 คน คิดเป็น 51.71% รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รับ 95,124 คน สมัคร 119,871 คน ยืนยันสิทธิ 111,068 คน คิดเป็น 44% และรอบที่4 แอดมิชชั่น รับได้ 122,523 ที่นั่ง ยืนยันสิทธิ 69,440 คน และผ่านการคัดเลือกและเข้าสอบสัมภาษณ์ได้จำนวน 52,315 คน ส่วนรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะดำเนินการรับตรงเอง และขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับ จึงไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
หากพิจารณาตัวเลขของที่นั่งว่างในมหาวิทยาลัย และเด็กสมัครเข้าเรียน ยืนยันสิทธิ ในปีการศึกษา 2561 สรุปเบื้องต้นได้ว่า มีที่นั่งในมหาวิทยาลัย รวมกัน 4 รอบ จำนวน 523,538 ที่นั่ง และจำนวนเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย ยืนยันสิทธิ 269,816 คน แต่ทั้งนี้ จำนวนที่นั่งอาจจะมีความซ้ำซ้อนกันได้ และเด็กที่ยืนยันสิทธิอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ดังนั้น ตัวเลขระหว่างที่นั่งในมหาวิทยาลัยและจำนวนเด็กเข้าเรียน เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้เด็กไทย เทรนด์การเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้รับการนิยมอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เป็นความใฝ่ฝัน เป้าหมายของเด็กไทยอีกต่อไปเช่นเดียวกัน การรับสมัครทีแคส ปี 2562 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถึงจะยังไม่สิ้นสุด แต่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยกับจำนวนเด็กที่ต้องการเข้าเรียน ก็สวนทางกัน เมื่อที่นั่งเพิ่มขึ้น เด็กกลับลดลง อย่างที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เคยออกมากล่าวเตือนว่า มหาวิทยาลัยควรมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะดูจากจำนวนนักศึกษาที่รับสมัครผ่านระบบ TCAS 61 ซึ่งมีการรับสมัคร 5 รอบ พบว่าจำนวนนักศึกษาน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยจะรับ อีกทั้งในแต่ละรอบมีการสละสิทธิ์จำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับมหาวิทยาลัยไทย เพราะหากจำนวนนักศึกษาน้อยลงเรื่อยๆ และหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานต่างชาติ ไม่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน มหาวิทยาลัยจะเจอวิกฤต
ล่าสุด ทปอ.ได้มีการจัดทำข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า (BigData) ทีแคส ปีการศึกษา 2562 เพื่อศึกษาและใช้เป็นข้อมูลในการวัดสถิติจำนวนผู้เรียน ผู้สมัคร และที่นั่งในมหาวิทยาลัย รวมถึง คณะ สาขา ที่ได้รับความสนใจ เทรนด์ในการเลือกคณะเรียนของเด็กในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญมหาวิทยาลัยไทยจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ ไปปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอน และกำหนดทิศทางอนาคตของมหาวิทยาลัยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการคัดเลือกการรับสมัครบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง ด้วยเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ๆ เพื่อลดการวิ่งรอกสอบ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กจนกับเด็กรวย ให้มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่ ไม่ยึดติดกับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต่อให้อยู่เมืองไทยก็อาจจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างชาติได้ หรือคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยเอง ที่เป็นตัวตัดสิน เป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กไทยอยากเข้าเรียนหรือไม่
หลังจากนี้..คงต้องติดตามสถานการณ์ ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยว่ายังคงมีความจำเป็นหรือไม่ และจะออกมาในรูปแบบใด สถิติที่ทปอ.กำลังเก็บรวบรวมจะช่วยให้มหาวิทยาลัย ไทยอยู่รอดหรือไม่ อย่างไร?

logoline