svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

28 พ.ค.2491 "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 15

28 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฉายาจากสื่อมวลชนว่า "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" หรือ "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" คงมีความหมายลึกซึ่ง / มากกว่าความเป็น ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 15 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันนี้ของ 71 ปีก่อน คือความเป็นทั้งนายทหารและนักการเมืองที่มีบทบาทต่อการเมืองไทยเป็นอันมาก

และน่าจะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงไปด้วยกัน กับเรื่องราวของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นทั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และผู้บัญชาการทหารบก
ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ เล่าว่า จอมพลผิน ชุณหะวัณ เกิดที่บางนกแขวก อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายไข่ และ นางพลับ ชุณหะวัณ ชาวสวนและแพทย์แผนโบราณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน
ท่านเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 9 ปีกับ อาจารย์ไล้ วัดโพธิ์งาม จังหวัดสมุทรสงคราม และพระสุย วัดใหม่สี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่ออายุ 11 ปีได้อุปสมบทเป็นสามเณรอยู่ 3 พรรษา แล้วลาอุปสมบทเข้ามาเรียนหนังสือที่วัดมหรรณพารามและวัดบวรนิเวศ
ช่วงอายุ 16 ปี ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นพลทหาร จนปีต่อมาราวปี 2452 ท่านก็สามารถสอบเข้าโรงเรียนนายสิบ กรมทหารที่ 4 ราชบุรี หลักสูตร 2 ปี

28 พ.ค.2491  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา"  นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 15


ที่สำคัญท่านมีผลการเรียนได้คะแนนยอดเยี่ยมมาตลอด จึงได้สิทธิเข้าศึกษาต่อโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ.2453 (รุ่นเดียวกับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม) และได้พระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี ประจำกรมทหารราบที่ 4 ราชบุรี
เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2459 จอมพล ผิน ชุณหะวัณได้รับแต่งตั้งเป็นนักเรียนทำการนายร้อยเข้ารับราชการเบื้องต้นเป็นนักเรียนทำการประจำกองร้อยที่ 2 กรมทหารราบที่ 4 ราชบุรี ทำหน้าที่ฝึกทหารใหม่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ของกรมทหารราบที่ 4 ถึง 5 ปีติดต่อกัน ต่อมาท่านได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเมื่อ พ.ศ.2464
จนปี 2467 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนชำนาญยุทธศาสตร์ ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกองพลที่ 4
ต่อมาปี 2469 เมื่อพลตรีพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพที่ 1 โปรดให้ร้อยเอกผิน มาเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองทัพที่ 1 แต่อยู่ได้เพียงหนึ่งปี ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อต้องมาอยู่ในพระนครทำให้ร้อยเอกผินขอย้ายกลับไปทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 4 เหมือนเดิม
กระทั่งปี 2471 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นพลตรีพระยาพิไชยสงครามเป็นผู้บัญชาการกองพล เมื่อกองทัพบกสั่งยุบกองพลที่ 4 ในปี 2471 โดยเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรมทหารบกประจำจ. ราชบุรี และมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการกองพลกับฝ่ายเสนาธิการทั้งหมดย้ายไปประจำกองพลที่ 2 ที่มีที่ตั้งอยู่ที่ปราจีนบุรี ในปีถัดมาพันตรีผินได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 2 และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชำนาญยุทธศาสตร์
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันตรีผินได้รับคำสั่งจากพลตรีหม่อมเจ้าทองทีฆายุ ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ให้เข้าไปสังเกตการณ์ในพระนคร มีบทบาทอยู่บ้างในช่วงนั้น
แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตพันตรีผินเกิดขึ้นในปี 2476 เมื่อเกิดกบฎบวรเดช พันโทหลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพปราบกบฎ ความต้องการนายทหารทำให้มีคำสั่งให้นายทหารที่อยู่ในโรงเรียนนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมปราบกบฎ พันตรีผินได้อาสาเข้าร่วมปราบกบฎ โดยเป็นผู้นำกำลังเข้ายึดที่ทำการอำเภอบางเขน
และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกองผสมปราบปรามกบฎ โดยเข้ายึดจังหวัดนครราชสีมาจนถึงอุบลราชธานีคืนจากฝ่ายกบฎ เมื่อการปราบปรามกบฎสำเร็จลง พันตรีผินได้เลื่อนยศเป็น "พันโท" ในตำแหน่งเสนาธิการมณฑล ทหารบกที่ 3 และรักษาการรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 3
พ.ศ.2478 พันโทผินได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 3 ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนในปี 2483 พันเอกผินเลื่อนเป็นรองแม่ทัพอีสาน

28 พ.ค.2491  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา"  นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 15


อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่ บางเขน กรุงเทพมหานคร เวลานี้ถูกย้ายไปแล้ว
เพื่อก่อสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุของทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และในปี 2485 พลตรีผินได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยใหญ่ (สหรัฐไทยเดิม) และในปีถัดมาเลื่อนยศเป็นพลโท ผู้ช่วยแม่ทัพกองทัพพายัพ และข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยเดิม
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2487 หลวงพิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ช่วงนั้นมีคำสั่งให้พลโทผินไปประจำกรมเสนาธิการทหารบกในวันที่ 1 ตุลาคม 2487 และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2488 กองทัพบกมีคำสั่งให้พลโทผินออกจากราชการโดยได้รับเบี้ยหวัด แล้วไปทำนาทำสวนอยู่ที่เมืองแปดริ้ว
แต่ระหว่างนั้นการเมืองไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มาก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ควง 1 อยู่ปีเดียวก็ลาออกในปี 2488
ปรากฏว่า ช่วงสองปีนั้นเมืองไทยเปลี่ยนนายกฯ 5 ครั้ง 4 คน คือ ถัดจากควงก็ ทวี บุณยเกตุ, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, และ ควง อภัยวงศ์ (ครั้งที่ 2) จากนั้นก็ ปรีดี พนมยงค์ แล้วมาก็มาถึง พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2489
ที่สุดพรรคพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เปิดอภิปรายทั่วไปลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุด พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ทั้งระบุรัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยภายในตามนโยบายที่แถลงไว้ ดำเนินการทางเศรษฐกิจผิดพลาด และอื่นๆ อีกมากมาย แต่รัฐบาลก็ชนะในการลงมติ อย่างไรก็ดีแม้จะชนะ แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ท่านก็กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง
พลโทผิน นายทหารนอกราชการ ที่มีบุตรเขยและบุตรชายที่ยังเป็นนายทหารประจำการ คือ พันโท เผ่า ศรียานนท์ พันตรี ประมาณ อดิเรกสาร และ ร้อยเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงนำกำลังทหารบก เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของ พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (https://www.dailynews.co.th/article/358898)
ช่วงนั้นที่ท่านได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" หรือ "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" เนื่องจากให้สัมภาษณ์ในเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้นว่า ทำไปเพราะรักชาติ ขณะที่ให้สัมภาษณ์ทุกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มักน้ำตาไหลด้วยความตื้นตัน
ช่วงนั้นท่านเจอคำถามว่า ทำไมไม่เป็นนายกฯ เสียเอง มีข้อมูลระบุว่าท่านได้กล่าวไว้ว่า
"ผมทนดูเขาโกงกันไม่ไหว ดูซิคุณ เขารวยกันเป็นล้าน ๆ ผมเป็นนายพลนุ่งกางเกงปะก้น เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นเงินหมื่น"
"การทำรัฐประหารครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีความประสงค์อันแน่วแน่ ที่จะให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อจรรโลงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ด้วยเหตุผลทั้งสี่ประการที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้"

28 พ.ค.2491  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา"  นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 15


จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ประวัติศาสตร์จารึกว่า หลังรัฐประหารครั้งนั้น จอมพลผินได้ตั้ง "กลุ่มซอยราชครู" ขึ้นในวงศาคณาญาติ แต่กลุ่มนี้กลับมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจประเทศเป็นอันมาก
ขณะเดียวกัน พลโทผิน ยังได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในวัย 56 โดยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก จนกระทั่งปีถัดมาในปี 2491 ท่านก็ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย
และที่ต้องเน้นคือ พลังอำนาจของสมาชิกกลุ่มราชครูในการเมืองไทยช่วงนั้นก็แน่นปึ๊ก ตอกย้ำบทบาททางการเมืองที่ได้มาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ความพยายามเปลี่ยนรูปจากกลุ่มผู้ยึดอำนาจมาเป็นพรรคการเมือง
โดยในช่วงปี 2494-2499 จอมพลผินได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 คือได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลโดยช่วงนั้นหรือปี 2496 ท่านได้รับพระราชทานยศจอมพล
ต่อมา ท่านเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตรระหว่างปี 2496-2500 และระหว่างปี 2497-2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหมอีกตำแหน่ง
ต่อมาปี 2497 จอมพลผินพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และไปไปดำรงตำแหน่งรองจเรทหารทั่วไป และเดินหน้าเข้าสู่การเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หรือที่เรียกกันว่า "การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด"
การเลือกตั้งหนนี้จอมพลผิน ยังคงได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ส.ประเภทที่ 2 และยังได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
แต่แล้วสภาชุดนี้ก็พ้นสภาพเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และจัดการเลือกตั้งใหม่ในปีเดียวกัน วันที่ 15 ธันวาคม 2500
จอมพลผิน ก็กลับมาอีก โดยยังคงเป็น ส.ส. ประเภทที่ 2 แต่สมาชิกภาพของ ส.ส.ชุดนี้ ก็สิ้นสุดลงอีก เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

28 พ.ค.2491  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา"  นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนที่ 15

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
สุดท้าย เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญ พ.ศ. 2502 ให้รัฐสภามีสภาเดียว คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการแต่งตั้ง จอมพลผิน ก็ได้รับการแต่งตั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนสิ้นสุดสภาพลงหลังจากนั้น 9 ปี เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511
และไม่น่าเชื่อ เวลานั้น จอมพลผินของเราก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2511 แต่สภาชุดดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514
และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี จอมพลผิน ชุณหะวัณ ก็ถึงแก่อสัญกรรมในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2516 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยวัย 81 ปี 3 เดือน 13 วัน
อนึ่ง จอมพล ผิน มีบุตรชายคนหนึ่ง คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่กลายเป็นทายาทของกลุ่มราชครูยุคหลัง และมีความยิ่งใหญ่ในการเมืองไทยถึงขั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อะไรๆ ก็ดำเนินอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อคืนวันผันผ่านทุกอย่างก็แปรสภาพไปตามกาลเวลา

logoline