svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

อุ้ม "เปรม" ไม่ผิด คิดอุ้ม "ตู่" จะเป็นจะตาย

21 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พักนี้ มีนักการเมือง "สะตอ" ออกมาท่องอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ผ่านสื่อโซเชียลถี่หน่อย ใครก็รู้ ตั้งแต่ 6 เมษายน 2489 พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศชัดว่า "พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด ๆ"

ทำนองเดียวกัน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40 ปีมานี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง
มินับกรณี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ไม่เอาเผด็จการทหาร แต่เจรจากับขุนศึก "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" ในค่ายทหารที่ลพบุรี ก่อนยอมนั่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว
มินับกรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขุนศึกบูรพา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุวิกฤติการเมือง ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
หลังรัฐประหาร โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะยังเปิดโอกาสให้คณะทหารได้เข้ามามีอำนาจ ผ่านกลไกรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 เปิดทางให้ "คนนอก" เป็นนายกรัฐมนตรี และให้ "วุฒิสภา" โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้
22 เมษายน 2522 เลือกตั้งใต้เงาปืน พรรค ปชป.พ่ายยับทั่วประเทศ เฉพาะสนามเมืองหลวง พรรคประชากรไทยฟีเวอร์ ของสมัคร สุนทรเวช กวาดเกือบหมด ยกเว้นเขต 6 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ค่าย ปชป. สอบได้คนเดียว ส่วนสนามภาคใต้ ถือว่าเป็นยุคทองของพรรคกิจสังคม
หลังการลาออกของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ที่มาจากโหวตในสภา พรรค ปชป.ก็เข้าร่วมหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2523
นักวิชาการสมัยโน้น เรียกการเข้าสู่การเมืองของนายทหาร พ.ศ.โน้นว่า การสืบทอดอำนาจ เพื่อการสถาปนาระบอบกึ่งเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ พร้อมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2521
เลือกตั้ง 2526 พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร นำพรรคชาติไทย ได้เสียงมากที่สุด พยายามจับขั้วตั้งรัฐบาล โดยเสนอตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อพรรค ปชป. และพรรคกิจสังคม ยังเลือกที่จะหนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
เลือกตั้ง 2529 พิชัย รัตตกุล นำพรรค ปชป.ชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของนักวิชาการหัวก้าวหน้าให้พิชัยแสดงความกล้าหาญ โดยเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี และจับมือพรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม จัดตั้งรัฐบาล
ปรากฏว่า "กลุ่มสะตอสามัคคี" ที่เติบใหญ่ในพรรค ปชป. หลังได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรมมาแล้ว อาทิ บัญญัติ บรรทัดฐาน, วีระ มุสิกพงศ์, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิถต์ กลับไม่ยอมให้พรรคตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุน "ป๋าเปรม" เป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง
"เสี่ยหมากหอม" พิชัย หัวหน้า ปชป. ต้องแอบมากระซิบนักข่าวว่า ปชป.ได้ "ข้อมูลใหม่" เกี่ยวกับความมั่นคง จึงต้องหนุนป๋าเปรมอีกครั้ง เพื่อบ้านเมืองสงบร่มเย็น
กระทั่ง พล.อ.เปรม ลั่นวาจา "ป๋าพอแล้ว" หลังการเลือกตั้ง 2531 พรรคประชาธิปัตย์ จึงหันไปสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
สรุป พรรค ปชป.สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถึง 3 ครั้ง โดยที่ป๋าเปรมไม่ได้เป็น ส.ส.และไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด
ลึกๆ แล้ว ห้วงเวลานั้น คอการเมืองก็รู้ดีว่า กองทัพสนับสนุนป๋าเปรม และมีพรรคการเมืองขนาดเล็ก 2-3 พรรคที่กองทัพให้การหนุนช่วย อาทิ พรรคราษฎร และพรรคสยามประชาธิปไตย
ที่ต้องเล่าประวัติศาสตร์การเมืองยุคกึ่งเผด็จการ เพราะรำคาญบรรดานักประชาธิปไตยจ๋า ในพรรคเก่าแก่ที่พยายามอ้าง "ประชาธิปไตย" ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
พฤติกรรมคิดแต่จะเป็นพระเอก ไม่ยอมเป็นผู้ร้าย ดูจะเป็นท่วงทำนองของนักเลือกตั้งพรรคเก่าแก่มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง

logoline