svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปชป.ส่อเสียงแตกร่วมพลังประชารัฐ

20 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ทำให้ "กูรูการเมือง" คาดการณ์ว่า การรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐจะยากลำบากขึ้น

และจะส่งผลให้การสานฝัน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ สมัยสอง ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ทำไม "กูรูการเมือง" ถึงมองแบบนั้น สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะจุรินทร์ไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แตกต่างจากผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคบางคนที่เปิดตัวชัดเจนอย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค/หนำซ้ำจุรินทร์ยังได้รับแรงสนับสนุนจาก "ผู้ใหญ่ในพรรค" นำโดย ชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชวนไม่ได้สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์โดดร่วมรัฐบาลโดยไม่ดูกระแสสังคม ไม่ดูตาม้าตาเรือ
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือสาเหตุที่ทำให้จุรินทร์ชนะคู่แข่งแบบขาดลอย เป็นเพราะมีคะแนนส.ส.11 เสียงของกลุ่มอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหน้าพรรคโหวตสนับสนุน โดยแม้อภิสิทธิ์จะสนิทสนมกับ กรณ์ จาติกวณิช ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคอีกคน ในฐานะเพื่อนนักเรียนอังกฤษด้วยกัน แต่ก็ประเมินแล้วว่าถ้าเทคะแนนให้กรณ์ ก็ยังเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้อยู่ดี จึงหันไปเทคะแนนให้จุรินทร์ เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายยึดพรรค ขณะที่เสียงส.ส.มีน้ำหนักถึง 70% ในการคิดคะแนนโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ทำให้คะแนนของจุรินทร์ทิ้งห่าง

ปชป.ส่อเสียงแตกร่วมพลังประชารัฐ

และต้องไม่ลืมว่าอภิสิทธิ์คือผู้ที่ประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มอภิสิทธิ์ยังเห็นด้วยกับแนวทาง "ฝ่ายค้านอิสระ" ด้วย โดย "เดอะมาร์ค" เพิ่งให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กับ "หมอเอ้ก" คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 กทม. ย้ำว่าสิ่งที่เขาประกาศจุดยืนไปช่วงก่อนเลือกตั้ง สอดคล้องกับอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะทำให้พรรคพ่ายแพ้เลือกตั้งก็ตาม แต่ 3.9 ล้านเสียงที่เลือกมา มากกว่า 70% น่าจะสนับสนุนจุดยืนนี้

แต่การตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจล่าสุดไม่ใช่อภิสิทธิ์แล้ว แต่เป็นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ร่วมกับส.ส. การวิเคราะห์แนวโน้มจึงต้องพิจารณาจากตัวเลขผู้มีสิทธิ์โหวตตัดสินใจ พบว่าใช้เสียงกรรมการบริหารพรรค 41 เสียง กับเสียงส.ส.อีก 52 เสียง

แต่ผลการเลือกกรรมการบริหารพรรคเมื่อวาน ปรากฏว่ามีกรรมการบริหารพรรค 7 คนเป็น ส.ส.ด้วย ฉะนั้นคะแนนโหวตรวมก็จะหายไป 7 คะแนน คือไม่ใช่เอา 41+52 เป็น 93 เสียง แต่เสียงซ้ำซ้อนต้องตัดออกไปคือจะเหลือเสียงที่จะโหวตได้จริงๆ แค่ 86 เสียง

ปชป.ส่อเสียงแตกร่วมพลังประชารัฐ

เมื่อแยกแยะออกมาชัดๆ ระหว่างคะแนนส.ส. กับคะแนนกรรมการบริหารพรรค โดยเอาคะแนนกรรมการบริหารพรรคเป็นหลัก จะพบว่าเสียง ส.ส. 52 เสียง ซ้ำซ้อน 7 เสียง ก็จะเหลือ 45 เสียง ในจำนวน ส.ส.ทั้งหมดนี้ เป็นส.ส.เขต 33 คน น่าจะโหวตร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐทั้งหมด ขณะที่เสียงกรรมการบริหารพรรค 41 เสียง ส่วนใหญ่เป็นสายชวน บัญญัติ และอภิสิทธิ์ งานนี้คนในพรรคเองยังยอมรับว่าเสียงก้ำกึ่งกันมากจริงๆ แนวทางที่เป็นไปได้มี 3 แนวทาง คือ

1.โหวตเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เสียงก้ำกึ่งกัน สุดท้ายเมื่อถึงเวลาโหวตเลือกนายกฯ อาจมีส.ส.บางคน เช่น อภิสิทธิ์ งดออกเสียง เพื่อรักษาจุดยืนพรรคและจุดยืนของตัวเองที่เคยประกาศว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

2.โหวตไม่เข้าร่วมรัฐบาล เป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่แน่นอนว่าเมื่อเสียงก้ำกึ่งกันอาจมี ส.ส.บางส่วนเป็น "งูเห่า" ได้เหมือนกัน

หรือ 3.ปล่อยฟรีโหวต โดยอ้างว่าการโหวตเลือกนายกฯ เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. มติพรรคบังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คืออำนาจต่อรองการร่วมรัฐบาลและแบ่งกระทรวงจะอ่อนลงไป

จากการสอบถามแกนนำพรรคหลายคนยืนยันตรงกันว่า แนวทางที่พรรคจะออกมติ "เป็นฝ่ายค้านอิสระ" มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด โอกาสที่มากกว่าคือมติร่วมรัฐบาล แล้วแกนนำบางคนงดออกเสียง

ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวิเคราะห์แล้วโอกาสสูงสุดคือเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เสียงโหวตสนับสนุนของส.ส.อาจไม่ครบ 52 เสียง ฉะนั้นหากพรรคพลังประชารัฐต้องการความแน่นอน โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็อาจต้องหา "งูเห่า" จากขั้วเพื่อไทยมาเติมเพื่อการันตีว่าจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาอย่างแน่นอน

คอการเมืองจึงเชื่อว่างานนี้ต้องมี "งูเห่า" อย่างน้อยๆ 20 เสียงเลยทีเดียว

logoline