svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สทนช.ลดเสี่ยงน้ำล้นเขื่อน-ระบายน้ำเกินจำเป็น ย้ำหน่วยเกี่ยวข้องอิงเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำใหม่

16 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สทนช.บูรณาการหน่วยคุมอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พิจารณาเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ปรับปรุงใหม่ หวังเป็นกลไกสำคัญลดความเสี่ยงการบริหารจัดการน้ำหลากปีนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศให้สามารถใช้รองรับสถานการณ์จริงในฤดูฝนปี 2562 ซึ่งขณะนี้การจัดทำ Rule Curve ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เสร็จไปแล้วทั้งหมด 36 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 414 แห่ง โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่มี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน และได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ใหม่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมจะได้นำเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้วมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้ทันในช่วงฤดูฝนนี้อย่างแน่นอน

สทนช.ลดเสี่ยงน้ำล้นเขื่อน-ระบายน้ำเกินจำเป็น ย้ำหน่วยเกี่ยวข้องอิงเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำใหม่

"ความจำเป็นของการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เนื่องจากที่ผ่านมา การบริหารจัดการปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีเกณฑ์ที่ใช้ในการบริหารจัดการ ทั้งการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำที่แตกต่างกัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน สทนช. จึงเข้ามาทำหน้าที่ในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามกรอบการดำเนินงานที่กำหนด" นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่เดิมมีเพียงเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) และเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด (Lower Rule Curve) แต่ในปีนี้นอกจากจะปรับปรุงข้อมูลทั้ง 2 เส้นคือเกณฑ์สูงสุดและเกณฑ์ต่ำสุด โดยอาศัยข้อมูลทางสถิติ เงื่อนไขการใช้น้ำของพื้นที่อ่างเก็บน้ำฯ และขีดความสามารถการรับน้ำของลำน้ำด้านท้ายน้ำไม่ให้ได้รับผลกระทบแล้ว สทนช.ยังกำหนดให้มีการนำเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2 เส้น คือ เส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำอ้างอิง และเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต หรือเส้น Dynamic Rule Curve ในแต่ละปีตามการคาดการณ์ที่กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลที่จะต้องใช้ข้อมูล One Map และปริมาณน้ำฝนเทียบเคียงปีในอดีต มาประกอบการคาดการณ์ด้วย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำจะต้องดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวในทุก ๆ 3 ปี เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีความยืดหยุ่น แม่นยำในการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อความมั่นคงของเขื่อน และเพียงพอสำหรับการใช้น้ำในอนาคตด้วย

สทนช.ลดเสี่ยงน้ำล้นเขื่อน-ระบายน้ำเกินจำเป็น ย้ำหน่วยเกี่ยวข้องอิงเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำใหม่


.
ทั้งนี้ สทนช.ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์ปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ให้หน่วยงานปฏิบัติรับทราบเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว และให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักของแต่ละอ่างเก็บน้ำรายงานผลการกำหนดเกณฑ์อ้างอิงและเกณฑ์ และเส้นเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต หรือเส้น Dynamic Rule Curve ให้ สทนช.ได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตลอดฤดูฝนที่จะถึงนี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สทนช. จะเร่งทำความเข้าใจให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำ โดยที่หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วนด้วย

logoline