svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) "ดร.เด่นเดือน" ชี้ หมอที่ต้องการทำกำไรมากๆ จ่ายยาให้คนไข้มากกว่าที่ควรจะได้รับ

14 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าจะต้องพบกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อแลกกับการไม่ต้องต่อแถวรอคิว หรือการบริการที่สะดวกสบาย แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงเกินจริงไปจนต้องมีมาตรการควบคุมหรือไม่

รายการชั่วโมงสืบสวน 12 พ.ค. 62 - ปัญหาค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปเมื่อปี 2552 และ 2557 ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เคยศึกษา อัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1 - 4 เท่า
จากการสำรวจได้ข้อมูลว่า ยาไทลินอลที่ข้างนอกขายเม็ดละ 1 บาท แต่เอกชนสำหรับผู้ป่วยนอกคิดเม็ดละ 3 บาท และผู้ป่วยในเม็ดละ 12 บาท ดังนั้นจะต้องมีการกำกับในเรื่องของราคายา
ผอ.ด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าฯ TDRI ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ บอกว่า "ต้องคุมราคายาให้มันสมเหตุสมผล เช่นคุณจะบอกว่า ยาพาราฯ ข้างนอก 1 บาท ผู้ป่วยใน 3 บาท เพราะมีค่าแจกยา จัดยา คุณก็ต้องแยกค่านั้นออกมา ไม่ใช่บวกเข้าไปอยู่ในยา คุณหมอบางท่านบอกว่า มีค่าโสหุ้ยเยอะแยะ ในการบริหารจัดการ ก็ยัดเข้าไปอยู่ในค่ายา ดิฉันคิดว่าอย่างนี้มันทำไม่ถูก"
"ควรจะแยกค่าโสหุ้ยออกมา แต่ราคายาก็คือราคายา จะค่าบริการยา หรือค่าพยาบาลก็เขียนออกมา เพราะว่าการที่คุณไม่ทำเช่นนี้ กลายเป็นว่าคุณเอาค่าเงินเดือนนางพยาบาล หรือค่าไฟฟ้า ประปา ไปยัดเข้าไปอยู่ในยา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันสร้างแรงจูงใจให้หมอที่ต้องการทำกำไรมากๆ เพราะกำไรมันอยู่ที่ยาแล้วนี่ ... ดังนั้นคนไข้ก็ต้องรับยาไปเยอะๆ มากกว่าที่ควรจะได้รับ" ดร.เดือนเด่น กล่าว

logoline