svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"เน็ตฟลิกซ์" รุกคอนเทนท์ภาษาจีน

11 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เน็ตฟลิกซ์" รุกคอนเทนท์ภาษาจีน แต่นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า กลยุทธ์ดังกล่าวอาจสายเกินไปแล้วสำหรับยักษ์สตรีมมิงสหรัฐิอเมริกา เนื่องจากอ้ายฉีอี้ซึ่งถือเป็นเน็ตฟลิกซ์แห่งแดนมังกร ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างแข็งขัน

แม้ "เน็ตฟลิกซ์" บริษัทสตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์ยักษ์ใหญ่ มีกลยุทธ์รุกธุรกิจแดนมังกร แต่ไม่ใช่การเปิดบริการสตรีมมิงในเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกแต่อย่างใด เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทที่มีฐานในสหรัฐ ได้ทุ่มทุนเพิ่มเพื่อซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ภาษาจีนกลางและผลิตคอนเทนท์เป็นของตัวเอง (ออริจินัล)

"เน็ตฟลิกซ์" รุกคอนเทนท์ภาษาจีน


ในเดือนก.ย. 2561 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้เปิดตัวรายชื่อนักแสดงสำหรับซีรีส์โทรทัศน์ภาษาจีนกลางเรื่อง "Nowhere Man" ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์ได้เริ่มผลิตซีรีส์ออริจินัลอีก 2 เรื่อง ได้แก่ "Triad Princess" และ "The Ghost Bride" 2 ใน 3 เรื่องนี้จะฉายในไต้หวัน และอีกเรื่องจะฉายในมาเลเซีย
เป้าหมายของแผนดังกล่าวคือเพื่อสร้างคอนเทนท์สำหรับผู้ชมที่พูดภาษาจีนกลางนอกประเทศจีน อีกทั้งเน็ตฟลิกซ์ยังมีแผนที่จะสร้างหรือซื้อรายการที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกด้วย
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เน็ตฟลิกซ์ได้เปิดตัวภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่อง " The Wandering Earth" บนแพลตฟอร์มของตน เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับอวกาศเรื่องแรกของจีน และ "บ็อกซ์ ออฟฟิศ โมโจ" เว็บไซต์สำรวจรายได้ภาพยนตร์ ระบุว่า ทำรายได้รวมในจีนสูงสุดอันดับ 3 ในปีนี้ด้วย
The Wandering Earth ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในแดนมังกร หลังเปิดตัวเมื่อต้นปีนี้ และเน็ตฟลิกซ์ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก
นอกจากนั้น เน็ตฟลิกซ์ยังหันมาจับมือเป็นพันธมิตรกับบรรดาบริษัทสตรีมมิงของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี (9 พ.ค.) "ยูคู" แพลตฟอร์มสตรีมมิงของยักษ์ใหญ่ อาลีบาบา ประกาศว่า เน็ตฟลิกซ์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ 24 ตอนเรื่อง "I Hear You" เพื่อฉายนอกประเทศจีนแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม เน็ตฟลิกซ์ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อความคืบหน้าเรื่องนี้
ปัญหาของเน็ตฟลิกซ์ในตลาดจีนคือยังไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในเดือนม.ค. 2559 เน็ตฟลิกซ์ประกาศขยายธุรกิจใน 130 ประเทศ แต่กลับไม่มีจีนอยู่ในแผน ทำให้บริษัทไม่เคยมีคอนเทนท์ภาษาจีนมาก่อน
อย่างไรก็ดี บริษัทสตรีมมิงสหรัฐได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ "อ้ายฉีอี้" ผู้ให้บริการสตรีมมิงท้องถิ่นซึ่งมี "ไป่ตู้" ยักษ์ใหญ่บริการสืบค้นข้อมูลของจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อ้ายฉีอี้เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยในปี 2560 เน็ตฟลิกซ์ตกลงขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ตัวเองบางส่วนให้กับอ้ายฉีอี้ เพื่อเจาะตลาดจีน
แต่กง หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของอ้ายฉีอี้ เผยว่า ปัจจุบัน ความร่วมมือดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว
"เราเคยมีข้อตกลงกับเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในการจำหน่ายคอนเทนท์ของเน็ตฟลิกซ์ในจีน แต่เนื่องจากระบบการตรวจสอบและรสนิยมของผู้ใช้ ทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีนัก เราจึงไม่เป็นพันธมิตรกับเน็ตฟลิกซ์ต่อ" กงให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีและว่า "ปัจจุบัน เราได้จับมือพันธมิตรกับสตูดิโอใหญ่ 6 ราย ในสหรัฐและภูมิภาคอื่น ๆ"

"เน็ตฟลิกซ์" รุกคอนเทนท์ภาษาจีน


เมื่อปี 2560 อ้ายฉีอี้ได้ถอดการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่เรื่อง "BoJack Horseman" ของเน็ตฟลิกซ์ออกจากแพลตฟอร์มของตน
บริษัทสหรัฐรายนี้ไม่มีแผนที่จะเปิดตัวในจีนเร็ว ๆ นี้ และในอดีต รีด แฮสติงส์ ซีอีโอเน็ตฟลิกซ์เคยกล่าวว่า บริษัทของเขาจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปักกิ่งก่อนเปิดธุรกิจในแดนมังกรเน็ตฟลิกซ์จึงหันไปชิงส่วนแบ่งในตลาดมูลค่าสูงแห่งอื่น ๆ แทน เช่น อินเดีย
จนถึงขณะนี้ กลยุทธ์จีนของเน็ตฟลิกซ์ให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มผู้ชมที่พูดภาษาจีนทั่วโลก แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เวลานี้ จีนอาจไม่ใช่คำตอบเนื่องจากบริษัทที่เน็ตฟลิกซ์เคยจับมือด้วย
"ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เน็ตฟลิกซ์ก็ไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้ในจีน เน็ตฟลิกซ์ต้องมีพันธมิตรอย่างเลี่ยงไม่ได้หันไปเน้นผลิตคอนเทนท์ท้องถิ่น และดำเนินการเซ็นเซอร์คอนเทนท์ของตัวเอง" เปาโล เปสคาโตเร นักวิเคราะห์จากบริษัทพีพี โฟร์ไซต์ เผยกับซีเอ็นบีซี
เปสคาโตเร เสริมว่า เน็ตฟลิกซ์อาจต้องกลับไปจับมือเป็นพันธมิตรด้านลิขสิทธิ์กับอ้ายฉีอี้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากชื่อเสียงระดับโลกของเน็ตฟลิกซ์ เช่นเดียวกับทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับบรรดาผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมและบริษัทการค้าต่าง ๆ เช่น "หัวเว่ย"

logoline