svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เกิดไฟป่าพรุควนเคร็ง ทะเลน้อย 2 จุด เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้สำเร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่

06 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เกิดไฟป่า 2 จุด ดำเนินการควบคุมดับไฟแล้วเสร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่

วานนี้ 5 พ.ค. 62 - นายธนากร รักธรรม หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าทะเลน้อย รายงานเข้ามาว่า เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าทะเลน้อย จังหวัดนครศรีธรรมราช สบอ.5 (นครศรีธรรมราช) เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เกิดไฟป่า 2 จุด ดำเนินการควบคุมดับไฟแล้วเสร็จ จุดที่ 1 บริเวณป่าพรุ บ้านบางเคร็ง หมู่ที่ 12 ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ พื้นที่ไฟไหม้ 10 ไร่ จุดที่ 2 บริเวณป่าพรุสะพานคุณขลิก หมู่ที่ 5 ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด พื้นที่ไฟไหม้ 2 ไร่


จากการศึกษาในภาพรวมด้านป่าไม้ พื้นที่พรุรอบทะเลน้อย ป่าพรุนี้อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลาย แต่ยังมีพื้นที่บางส่วนถูกบุกรุกเปลี่ยนสภาพป่า เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะนำไปปลูกปาล์มน้ำมัน พรรณไม้หลักที่ปกคลุมพื้นที่ยังคงเป็นเสม็ด เช่นเดียวกับป่าพรุผืนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง 


เกิดไฟป่าพรุควนเคร็ง ทะเลน้อย 2 จุด เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้สำเร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่

คุณค่าในระบบนิเวศ


           1) การเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า พื้นที่พรุควนเคร็งเป็นที่ราบลุ่มริมด้านเหนือของทะเลสาบสงขลา พื้นที่พรุรับน้ำที่มาจากต้นน้ำและเก็บกักน้ำเอ่อล้นจากทะเลสาบ 


           2) การดักตะกอนและแร่ธาตุ การกรองตะกอนและแร่ธาตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตรที่ระบายลงสู่พื้นที่พรุ ก่อนปลดปล่อยน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา 


           3) แหล่งทรัพยากร/ผลผลิตธรรมชาติ พบพรรณไม้ทั้งสิ้น 260 ชนิด จาก 198 สกุล 95 วงศ์ พบสัตว์ป่าในพื้นที่พรุรอบทะเลน้อย รวมทั้งสิ้น 131 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด นก 77 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 32  ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด พบปลา 13 ครอบครัว 30 ชนิด ทรัพยากรปลาที่พบยังเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอาหารกว่า 8 ชนิด ได้แก่ ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) ปลาช่อน (Channa striata) ปลาหมอไทย (Anabas testudineus) ปลากดเหลือง (Mystus nemurus) ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) ปลาไหลนา (Monopterus albus) และปลาสลาด (Notopterus notopterus) เป็นต้น และเป็นปลาสวยงามกว่า 17 ชนิด นอกจากนี้พรุควนเคร็งเป็นแหล่งกระจูดส่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับงานหัตถกรรมเสื่อของชุมชนทะเลน้อย


           4) แหล่งรวบรวมสายพันธุ์พืช/สัตว์ เป็นพืชหายาก 1 ชนิด พบสัตว์ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 8 ชนิด สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด พบปลาซึ่งอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable,VU) จำนวน 2 ชนิด คือ ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) และปลา

ซิวหนู (Boraras urophthalmoides) และสถานภาพถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (Threatened in situ, TI) จำนวน 1 ชนิด คือ ปลากัดภาคใต้ (Betta imbellis)


           5) ด้านนิเวศวิทยาและห่วงโซ่อาหาร เป็นพื้นที่ป่าพรุขนาดกว้างใหญ่ มีไม้เสม็ดขาวเป็นไม้เด่นและหนาแน่น เป็นแอ่งน้ำขนาดกว้างใหญ่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ประกอบกับการขุดคลองระบายน้ำพาดผ่าน สภาพทางนิเวศวิทยาแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แอ่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับลำน้ำหลายสาย และทะเลสาบ 


           6) การดักสารมลพิษ เป็นพื้นที่รับน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากพื้นที่การเกษตร


เกิดไฟป่าพรุควนเคร็ง ทะเลน้อย 2 จุด เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้สำเร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่


การใช้ประโยชน์


           1) ประมง บริเวณพื้นที่พรุเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญเพื่อการยังชีพและการค้าของชุมชน 


           2) ป่าไม้ ประชาชนในพื้นที่ใช้ไม้เสม็ดแต่เป็นการลักลอบใช้ประโยชน์เนื่องจากเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 


           3) วัตถุดิบ เป็นแหล่งกระจูดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับทำหัตถกรรมเสื่อของชุมชนทะเลน้อย 


           4) คมนาคม การใช้เส้นทางน้ำระหว่างชุมชนที่อยู่ตอนเหนือทะเลสาบกับชุมชนทะเลน้อย 


           5) หาของป่า พื้นที่พรุเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของครัวเรือนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งพืชผักและสมุนไพร 


           6) น้ำ มีการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทคูคลองเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 


           7) ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ พื้นที่พรุควนเคร็งที่เป็นทุ่งหญ้ามีพื้นที่บริเวณกว้างเนื่องจากยังไม่มีการฟื้นตัวของป่าไม้ ถูกชุมชนใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์


เกิดไฟป่าพรุควนเคร็ง ทะเลน้อย 2 จุด เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้สำเร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่


การจัดการและการคุกคาม 


           1)  การสูญเสียที่ดิน/พื้นที่พรุ เกิดจากการบุกรุกและครอบครองที่ดิน การอ้างสิทธิการครอบครองที่ดินในพื้นที่พรุ รวมทั้งการกันพื้นที่อนุรักษ์เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทำให้สูญเสียพื้นที่พรุตลอดเวลา


           2)  การใช้ทรัพยากรไม่ถูกวิธี พบการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่พรุ และการลักลอบตัดไม้ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดทั้งยังไม่มีการวางระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชนทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม


           3)  การจัดการน้ำไม่เหมาะสม เนื่องจากการขุดลอกคูคลองใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยให้ความสำคัญน้อยต่อพื้นที่พรุ มีผลกระทบต่อระบบน้ำในพื้นที่พรุ แอ่งน้ำบริเวณกลางพื้นที่มีการ   ตื้นเขินที่เกิดจากการทับถมของซากพืชโดยเฉพาะหญ้า รวมถึงลำน้ำหลายสายมีการตื้นเขินและถูกบุกรุก บางลำน้ำมีการฟื้นฟูโดยการขุดลอกมีคันดินสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้กีดขวางการอพยพของทรัพยากรปลาในเข้าออกพื้นที่พรุกับลำน้ำในฤดูน้ำหลาก ขณะเดียวกันการสร้างคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ผ่านพื้นที่พรุทำให้น้ำในบริเวณพื้นที่พรุแห้งในฤดูแล้งส่งผลให้เอื้อต่อการบุกรุกพื้นที่มากขึ้น และทำให้ทรัพยากรปลาหลบเข้ามาในลำน้ำช่วงฤดูแล้งซึ่งเป็นแหล่งอาศัยได้ แต่คลองดังกล่าวในหลายพื้นที่มีคันดินสูงขวางกั้นเส้นทางอพยพของปลาในฤดูน้ำหลาก ทำให้ทรัยพากรปลาลดจำนวนลงได้ รวมทั้งมีการทำการประมงมากและทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะในคลองขุดมีการใช้ยอขนาดใหญ่รวมถึงอวนตาถี่ และโพงพางในบางพื้นที่ ซึ่งมีส่วนทำให้ทรัพยากรปลาลดจำนวนลง ทั้งนี้ควรมีร่องน้ำสำหรับให้ทรัพยากรปลาสามารถอพยพเข้าออกระหว่างพื้นที่พรุกับลำน้ำได้ในฤดูน้ำหลากเพื่ออาศัย อาหารและเพาะพันธุ์


           4)  การใช้ประโยชน์ที่ดิน/กิจกรรมที่ขัดแย้ง พบการใช้พื้นที่พรุเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก การเหยียบย่ำของสัตว์กระทบต่อหน้าดินและการสะสมของดินอินทรีย์ ทำให้สูญเสียหน้าดินจากการถูกชะล้างลงสู่ทะเลน้อย


           5)  การแพร่ระบาดของพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จากการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่พรุ ได้นำพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่พรุ


เกิดไฟป่าพรุควนเคร็ง ทะเลน้อย 2 จุด เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้สำเร็จ พบเสียหายรวม 12 ไร่


การคุกคามที่เกิดมาจากภายนอกพรุ 


           1) โครงการพัฒนา การพัฒนาเส้นทางถนนหลายสายผ่านพื้นที่พรุทำให้การเข้าถึงพื้นที่พรุ เพื่อการบุกรุกที่ดิน และการแอบใช้ทรัพยากรในพื้นที่พรุทำได้ง่าย  รวมทั้งทำให้การควบคุมดูแลพื้นที่พรุทำได้ยากขึ้น 


           2)  การพัฒนาชุมชนและบริการ การอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในพื้นที่เพื่อต้องการที่ดินและทำอาชีพประมง ทำให้ชุมชนเติบโตขึ้น กระทบต่อสภาพแวดล้อมพื้นที่พรุ 


           3) การใช้ที่ดิน การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรโดยรอบพื้นที่พรุกระทบต่อสภาพแวดล้อมของพรุ 


           4) การใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรและชุมชน ได้มีการขุดคูคลองเพื่อการใช้น้ำกระทบ ต่อสภาพแวดล้อมและระบบน้ำในพื้นที่พรุ


การมีส่วนร่วมของชุมชน 


           การมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการอนุรักษ์ ในพื้นที่นี้ชาวบ้านมีความต้องการอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากพื้นที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น 


ชุมชนมีส่วนอนุรักษ์พื้นที่พรุ ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็ง ปัจจุบันมีหัวหน้าชุมชนเป็นแกนน้ำกลุ่ม โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ให้การสนับสนุนงบประมาณและวิทยากร

logoline