svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

SME D Bank ยกระดับธุรกิจโชห่วยทั่วไทย

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

SME D Bank เดินหน้ายกระดับธุรกิจโชห่วยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ปรับตัวทันโลกการค้ายุคใหม่ เผยพาถึงแหล่งทุนแล้ว 2,540 ราย วงเงิน 3,158.09 ล้านบาท ประกาศลุยต่อเนื่อง จับมือพันธมิตร จัดทัพเดินสายปูพรมติดปีกทั่วไทย เติมความรู้ คู่ดันเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank  เผยว่า จากที่ธนาคาร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจ "สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย" พบว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีจำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ "โชห่วย" เกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ประสบปัญหา   มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่  ค้าขายออนไลน์ และโมเดิร์นเทรด  ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป  ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า  ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง  



นอกจากนั้น ธุรกิจโชห่วยการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันยังต่ำ จากการสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด  และ 39.77% มีปรับตัวน้อย เพราะมองว่า มีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่ มีเพียง 13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า  เช่น ปรับปรุงร้านใหม่  เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ  มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ



นายพงชาญ กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจดังกล่าว ธนาคารจึงกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการสนับสนุนยกระดับธุรกิจโชห่วย   เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีความใกล้ชิดชุมชน  และมีผู้ประกอบการจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากส่งเสริมให้โชห่วยเติบโตได้ จะก่อประโยชน์กว้างขวาง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้กระจายในท้องถิ่น  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนอย่างดียิ่ง 



ดังนั้น  นับตั้งแต่ต้นปี ธนาคารจัดกิจกรรมยกระดับโชห่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ   "เติมทักษะ"  ผ่านการอบรมให้ความรู้ต่างๆ  เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งเสริมระบบบัญชีให้ธุรกิจโชห่วยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และขยายการค้าออนไลน์ เพื่อสร้างตลาดใหม่ เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 1,500 ราย  ตามด้วยการกลางน้ำ คือ "เติมทุน"  สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการ "สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน" (Local Economy Loan)  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ค้าปลีกค้าส่ง   ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ปรับปรุงร้านให้สะดวกทันสมัย  คิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี  บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก  3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  นับตั้งแต่ต้นปี ถึงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา อนุมัติสินเชื่อให้ธุรกิจโชห่วย ค้าปลีกค้าส่งไปแล้ว 2,540 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 631 ราย บุคคลธรรมดา 1,909 ราย วงเงินรวม 3,158.09 ล้านบาท แบ่งเป็น นิติบุคคล 1,615.57 ล้านบาท บุคคลธรรมดา 1,542.52  ล้านบาท ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นมูลค่ากว่า  14,464 ล้านบาท   และปลายน้ำ คือ "เติมคุณภาพ" สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ   ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต เติบโตอย่างยั่งยืน นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข



ทั้งนี้ ธนาคารจะทำตลาดเชิงรุกยกระดับธุรกิจโชห่วยต่อเนื่อง   โดยผู้บริหารระดับสูง  และพนักงาน จะแบ่งทีม เดินสายกระจายลงพื้นที่ต่างๆ เยี่ยมผู้ประกอบการร้านโชห่วยทั่วประเทศทุกสัปดาห์ รวมถึง จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน  เช่น กระทรวงพาณิชย์   บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย เป็นต้น   แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยเข้าถึงบริการของธนาคาร   โดยเฉพาะพาเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน  ซึ่งเตรียมวงเงินไว้บริการธุรกิจโชห่วย ค้าปลีกค้าส่งกว่า 10,000 ล้านบาท  คาดจะสนับสนุนธุรกิจโชห่วย ค้าส่งค้าปลีก ได้กว่า 10,000 ราย   ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นในระบบมูลค่ากว่า  45,800 ล้านบาท

logoline