svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | เหมืองปูนกลางป่า

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คนสระบุรีอาจคุ้นชิน กับเหมืองปูนที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน แต่กาลเวลาที่ล่วงเลยมากลับไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเหมืองรู้สึกผูกพัน หรือต้องพึ่งพากันละกันมากขึ้น มากไปกว่านั้นความขัดแย้งยิ่งฝังรากลึก และชาวบ้านยังคงลุกขึ้นมาต่อต้านจนถึงทุกวันนี้




ภูเขาหินปูนทอดตัวยาวกินพื้นที่ 2 อำเภอในจังหวัดสระบุรี มองเผินๆ อาจไม่รู้ว่ามีการทำเหมือง แต่หลังสันเขาไปมีเหมืองปูนเกิดขึ้นแล้ว 3 แหล่ง และในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และกำลังจะมีอีกเหมืองเกิดขึ้น
หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 เพื่อทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จำนวน 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา
เราเดินทางมาที่นี่เพื่อเก็บภาพความเขียวขจีของเทือกภูเขาหินปูนที่เหลืออยู่เพียง 5% ของประเทศ ก่อนที่ทุกอย่างจะเหลือแต่เพียงความทรงจำ วันนี้ฝนตก แต่ชาวบ้านยังพาเราเดินเท้าฉับๆ เข้าไปในป่า
เขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และนครราชสีมา เป็นเขาชุดต่อเนื่องกัน ที่พบสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ถิ่นเดียวเป็นจำนวนมาก
ที่นี่เป็นป่าที่พวกเขาคุ้นเคย มากไปกว่านั้นเป็นแหล่งต้นน้ำ หรือที่เรียกว่า ลุ่มน้ำชั้น 1 A น้ำบางส่วนในแม่น้ำป่าสักมาจากผืนป่าแห่งนี้ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ได้เห็น ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือว่า EIA
แต่การเข้าถึง รายงาน EIA ฉบับนี้เป็นไปได้ยาก เป็นที่มาของข้อสงสัยว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจกรรมที่อาจจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่น หรือไม่
เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่พฤฒิ เกิดชูชื่น ทำธุรกิจวัวนม ในอำเภอมวกเหล็ก เขาเป็นอีกคนที่เห็นความความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่มาโดยตลอด จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นแนวร่วมกับชาวบ้านในการฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
ยังมีอีกหลายกรณีที่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ไว้ให้ลูกหลาน พฤฒิรู้ดีว่าเหมืองปูน SCG ที่กำลังจะดำเนินการ ได้ชื่อว่าได้รับสัมปทานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เขาก็ตั้งคำถามว่าอุตสหกรรมที่ทำลายป่าต้นน้ำ ยังจำเป็นหรือไม่ ในปัจจุบัน
ชุดข้อมูลจาก กลุ่มวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ สํานักเหมืองแร่และสัมปทาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยให้เราทราบว่า กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ มีอัตราที่เกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศเกือบ 10 ล้านตัน และที่เหลือถูกส่งออกไปต่างประเทศ เมื่อพิจารณาสัดส่วนการส่งออกต่อการผลิต จะเห็นว่าประเทศไทยผลิตปูนซีเมนต์สูงกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ ค่อนข้างมาก
ในขณะเดียวกันถึงแม้จีนจะมีปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ สูงกว่าไทย แต่สัดส่วนการส่งออกไม่ถึง 1% ของผลผลิต
นี่สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์จากการส่งออกด้วย
คำถามก็คือคุ้มค่าหรือไม่ที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสิ่งนี้SCG ทราบดีว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ในจังหวัดสระบุรี มีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และให้ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม
หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ SCG เคยเชิญไปดูวิธีการฟื้นฟูหลังการทำเหมือง และสำหรับ พื้นที่ประทานบัตรแปลงใหม่ของเอสซีจี ประมาณ 3 พันไร่ จะทำเหมืองปูนเพียง 40% และเหลือเป็นพื้นที่กันชน (Buffer Zone) 60% และตักเฉพาะตรงกลาง เหมือนลูกแตงโม เหลือขอบภูเขาไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฝุ่น รวมถึงพื้นที่ป่ายังเหลืออยู่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติน้อยที่สุด โดยธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ ก็เชื่อว่ายังมีผลกระทบอยู่
ในโลกของทุนนิยม ความเมตตาปราณี อาจไม่ใช่คำตอบ หากเป้าหมายคือผลประกอบการที่ต้องเติบโตขึ้น วิธีทางที่จะไปสู่จุดหมายนั้น เจ้าของธุรกิจไม่อาจวอกแวกวอแว ให้กับเสียงเล็กๆ น้อยๆ นั้นได้
มะม่วงลูกโตห้อยต่องแต่งอยู่ที่ลำต้น โน้มกิ่งลงมาเกือบจะถึงพื้น นี่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ชายชรารู้สึกพองโต
จะว่าไปแล้วเป้าหมายคนเราช่างต่างกัน แต่มันคงดีไม่น้อยถ้าไม่มีใครเบียดเบียนใคร
แม้จะรวมกลุ่มออกมาต่อสู้ เพื่อรักษาขุนเขา ต้นน้ำลำธาร ไว้ให้ลูกหลาน แต่นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง และชาวบ้านกลุ่มนี้ ไม่มีโอกาสเลือกมากนัก

logoline