svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รักโลก by วชิรวิทย์ | ชุมชนจัดการภาวะโลกร้อน

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าชุมชนเมือง แต่ชุมชนตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กลับตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อนมากว่าคนในเมือง และพยายามหาทางแก้ไข




ลำไย ข้าว ผักเมืองหนาว ผลไม้เมืองหนาว และดอกไม้ คือพืชที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรในพื้นที่ชายขอบ นับเป็นคนกลุ่มคนแรกที่รับรู้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ได้ก่อนใคร ขณะที่กกลุ่มคนในเมืองอาจยังไม่รู้สึก และยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆต่อไป  
ชาวบ้าน ที่นี่กำลังช่วยกันคิดว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ซ้ำเติมปัญหาโลกร้อน พวกเขาพบว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มากเกินไป  ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ รายงานของกรีนพีช ระบุว่า เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันและปริมาณการเพิ่มของก๊าซเรือนกระจก โดย สาเหตุหลัก มาจากการใช้ปุ๋ยปริมาณมาก 
ผลการสำรวจพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการทำเกษตรกรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะการใช้สารเคมี การทำลายป่าเพื่อการเกษตร  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน มีปริมาณสูงถึง 8.5-16.5 พันล้านตัน หรือคิดเป็น 17-32% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีสาเหตุจากมนุษย์ สุภาพร ช่างนัด เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ เมื่อความสำเร็จของเพื่อนเกษตรกรรอบตัว วัดจากเม็ดเงินที่ได้รับ 
ยิ่งปลูกมากๆ ก็ได้เงินมากๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ทันตาเห็นขนาดนั้น 
แล้วอะไรทำให้สุภาพ กล้าเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตรของตัวเอง 
ในสวนของเธอมีพืชผัก สวนครัว มีไก่ไข่ รอบๆเป็นขุดเป็นคูน้ำเพื่อเลี้ยงปลา เหล่านี้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ไม่น้อย และที่ไม่มีส่วนเพิ่มมลภาวะให้กับโลกใบนี้ 
ชีวิตที่พอดี ไม่มากไป ไม่น้อย อาจเป็นชีวิตที่ใครหลายคนใผ่ฝัน รวมถึงสุภาพรด้วยเช่นกัน
นอกจากชุมชนตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายจะพยายามไม่ทำกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากแล้ว ยังมีความพยายามที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนออกไซค์ ซึ่งตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อนอีกด้วย ป่าชุมชนบ้านสันป่าบง บนพื้นที่ 25 ไร่ ที่เคยถูกบุกรุกปลูกโพด วันนี้เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น  3,187 ต้น มากที่สุดคือต้นสัก 700 ต้น มันสามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวน 37, 000 กิโลคาร์บอน 
ซึ่งเทศบาลตำบลหงาวตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่การป่าชุมชนอีก 200 ไร่ จากเดิมที่มีอยู่ 500 ไร่รวมเป็น 700 ไร่ใน ปี 2566 หรือภายใน 5 ปีนับจากนี้ 
ป่าแห่งนี้ยังเป็น ศูนย์เรียนรู้ และเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านโดยไม่ผิดกฎหมายอุทยานชาติด้วย  แต่ผู้นำชุมชนที่ ฝันไกลไปมากกว่านั้น พลังงงานสะอาดเป็นแผนต่อไปสำหรับชุมชนจัดการภาวะโลกร้อนแห่งนี้ 
ตำบลหงาว ตั้งอยู่อย่างสงบในหุบเขา ทุ่งนาสูงต่ำลดหลั่น มีทิวเขาเขียวชอุ่มโอบล้อม ลำธารไหลผ่านกลางเมืองและน้ำสะอาด เมืองเล็กๆที่มีประชากรพันกว่าคน กลายเป็นเมืองถูกพูดถึง ไม่ใช่เพราะความเงียบสงบสวยงามเพราะเมืองเช่นนี้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ แต่เป็นเพราะความเอาจริงเอาจังกำจัดขยะในแบบที่หาได้ยาก
ตำบลหงาวไม่มีรถขนขยะ ไม่ใช่ว่าคนที่นี่ไม่สร้างขยะ พวกเขายังต้องกินต้องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับทุกคน แต่เมืองนี้แทบไม่มีขยะเหลือให้ทิ้งเลย ขยะรีไรเคิ้ลของชุมชนหงาว ถูกแบ่งออกเป็น 4 ถัง คือถุงหิ้ว ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และกล่องนม การแยกขยะที่สามารถนำมาใช้ซ้ำที่สามารถขายเพื่อสร้างรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งเป้าเป็นชุมชนปลอดขยะ 100% หรือ ซีโร่เวส ปัจจุบันมีชาวบ้านให้ความร่วมมือในการจัดการขยะประสบความสำเร็จ 80 % ใน 22 หมู่บ้านของทั้งตำบล ย้อนไปก่อน ปี 2556 เทศบาลตำบลหงาว ประสบกับปัญหาขยะล้นจนไม่สามารถจัดการได้  นำไปสู่การเริ่มต้นแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบหรือเผา 
ส่วนเศษอาหารจะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นการหมักปุ๋ยแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการนำไม้ไผ่มาสานขัดกันรอบต้นไม้ใหญ่ นำใบไม้เศษไม้และเศษอาหารใส่ลงไป ชาวบ้านเรียกว่าเสวียน 
สำหรับขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้เช่นถุงพลาสติกก็จะแยกออกมา ทำให้เทศบาลแทบไม่ต้องกำจัดขยะเลย  ส่วนขยะอันตรายก็จะมีศูนย์กำจัดอย่างมิดชิดที่เทศบาลจะนำไปจัดการต่อไป
เมืองเล็กๆท่ามกลางขุนเขา กับเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง มีสิ่งที่ต่างกัน คนที่นี่แยกขยะ โดยไม่เกลี่ยง หรือกล่าวอ้างว่า มันเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปอะไรได้มากนัก 
ในระดับครัวเรือน ชาวบ้านเต็มไปตัวความตื่นตัว กระตือรือล้นในการลงมือทำบางอย่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ หรือการลดใช้สารเคมีเกษตร และการปลูกป่าชุมชน 
แต่ในระดับนโยบาย ประเทศไทยยังประสบความยุ่งยากในการจัดการพลังงานโดยรวม ทุกส่วนของประเทศต้องการใช้พลังงานมหาศาล  ต้นทุนต่ำและมีเสถียรภาพ เกินกว่าการที่จะใช้พลังงานทดแทนหรือการแยกขยะระดับนี้จะช่วยได้ 
ในฐานะคนเล็กๆ ชาวชุมชนหงาว ทำหน้าที่พวกเขาอย่างสมบูรณ์แล้ว พ้นไปจากนี้คือหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ผลิต อุตสาหกรรมใหญ่ และนโยบายของรัฐ
การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ของชาวชุมชนหงาว อาจดู เล็กน้อย แต่หยดน้ำเล็กๆ รวมกันเป็นลำธารได้ฉันใด การลงมือเล็กๆของคนแยกขยะมากเข้า ก็ส่งผลวงกว้างต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ฉันนั้น 
ท่ามกลางภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง สังคมใดสังคมหนึ่ง แต่การดูแลรักษาและเยียวยาโลก เป็นความรับผิดชอบของคนเราทุกคน 

logoline