svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คัดกรอง​ HIV ผู้ต้องขัง​ นำร่อง 17 เรือนจำ ก่อนขยายผลทั่วประเทศ

30 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าตรวจสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน เช่น การตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอกซเรย์ปอด เป็นต้น โดยจะนำร่องใน 17 แห่ง และขยายการตรวจคัดกรองสุขภาพในทุกเรือนจำทั่วประเทศต่อไป เพื่อคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ พร้อมออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษ

30 เม.ย. 62 - ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมเปิดโครงการ "คืนคนสุขภาพดีสู่สังคม" โดยมีหน่วยงานองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) UNAIDS คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สภากาชาดไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง และหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมในพิธีเปิดโครงการดังกล่าว

คัดกรอง​ HIV ผู้ต้องขัง​ นำร่อง 17 เรือนจำ ก่อนขยายผลทั่วประเทศ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโครงการ "คืนคนสุขภาพดีสู่สังคม" เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ ในการเฝ้าระวังสุขภาพในกลุ่มผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัว สนองพระภารกิจในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่ทรงตอบรับการกราบทูลเชิญดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติด้านการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV prevention in the Asia Pacific Region)และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drug and Crime - UNODC) ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงมีพระปณิธานในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานด้านบริการเอชไอวีและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเรือนจำกรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันจัดทำแผนเร่งรัดเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ในเรือนจำ
โดยมีมาตรการสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ 1.การส่งเสริมการให้ความรู้โดยใช้กลไกเพื่อนช่วยเพื่อนในเรือนจำ เพื่อสร้างเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Educator) 2.การจัดบริการปรึกษาและการตรวจเลือดโดยสมัครใจ 3.การส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยของผู้ต้องขัง 4.การส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ 5.การพัฒนาบริการป้องกันดูแลรักษาแบบครบถ้วนและต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ต้องขัง 6.การพัฒนาระบบการส่งต่อโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภายนอก และ 7.การวิจัยและพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในเรือนจำสำหรับกิจกรรมในโครงการนี้ ประกอบด้วย 1.การตรวจโรคทั่วไป 2.การตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอกซเรย์ปอด 3.การให้การปรึกษาและคำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น การส่งเสริมการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis) และ 4.การจัดนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ได้มีเป้าหมายในการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการในเรือนจำและทัณฑสถาน รวม 17 แห่ง และเตรียมดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพในทุกเรือนจำทั่วประเทศ ต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 386,000 คน ในแต่ละเดือนมีผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวประมาณ 3,000 คน มีผู้ต้องขังใหม่ประมาณ 5,000 คน โดยที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ต้องขังเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ต้องขังบางรายเสียชีวิตในเรือนจำ เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องขัง เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านสุขภาพ ด้วยสภาพของเรือนจำที่เป็นสถานที่ปิด มีผู้ต้องขังอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสูงทางด้านสุขภาพจึงมีความจำเป็นต้องดูแลคัดกรองสุขภาพผู้ต้องขังทั้งที่อยู่ในเรือนจำและก่อนปล่อยตัว เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาพยาบาล ทั้งภายในเรือนจำและไปรักษาตัวในหน่วยบริการภายนอก เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ที่สมบูรณ์พร้อมออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษ เป็นการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม

logoline