svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อย. ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "ดี-คอนแทค"หลังพบโฆษณาเกินจริง​

30 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย. จับมือราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ใช้ข้อมูลวิชาการจัดการปัญหาโฆษณาอาหารรักษาดวงตา สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "ดี-คอนแทค" 10-1-15456-5-0001 พร้อมขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณารักษาดวงตาอื่นๆ เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาเป็นจำนวนมาก แม้ว่า อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ทำการโฆษณา และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. กระทรวง DE และ สคบ. ช่วยตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ก็ยังพบปัญหาการโฆษณาอ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์และมีผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้ อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค จากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และจะร่วมกันทำงานขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อ้างสรรพคุณรักษาโรคทางตาอื่น ๆ ต่อไป

อย. ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "ดี-คอนแทค"หลังพบโฆษณาเกินจริง​

รศ. นพ. อนุชิต ปุญญทลังค์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า ราชวิทยาลัยฯ มีความห่วงใยต่อสวัสดิภาพและการเสียโอกาสในการได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณารักษาโรคทางตาของประชาชน ราชวิทยาลัยฯ ได้แสดงจุดยืนและแนวคิดในการทำงานอย่างชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับ อย. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาโอ้อวดรักษาโรคทางตา โดยในวันที่ 24 เม.ย. 62 ได้มีการประชุมความร่วมมือ

สหวิชาชีพเพื่อพิทักษ์ผู้บริโภคจากการโฆษณาหลอกลวงของผลิตภัณฑ์อาหารทางตาร่วมกับ อย. เพื่อวางแผนการทำงานในการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาโรคทางตา ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และขอเตือนประชาชนด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ป่วยโรคทางตาควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคทางตาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมายังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอยู่ในขณะนี้สามารถรักษาโรคทางตาได้จริง ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยฯ พบผู้ป่วยจำนวนมากที่หลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง โดยทางทีมได้ส่งข้อมูลทางวิชาการให้กับ อย. เพื่อดำเนินการกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาดวงตารายอื่น ๆ แล้ว


นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของอาหารต่าง ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ขอย้ำว่า การโฆษณาที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรักษาโรคได้ เข้าข่ายโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ว่าจ้างผลิตสินค้า ผู้จัดทำโฆษณา พิธีกร พรีเซนเตอร์ต่าง ๆ จะถูกดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างการดำเนินการกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาดวงตารายอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ขอให้ผู้บริโภคติดตามข่าวจาก อย. ผ่านทางเว็บไซต์ อย. http://www.fda.moph.go.th หรือ Line @FDAthai หรือสื่อออนไลน์อื่น ๆ ของ อย. และสามารถแจ้งร้องเรียนการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

logoline