svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เส้นทางนักการเมืองหนุ่ม "มนตรี" สู่ "เจ้าพ่อโปรเจกท์"

27 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เส้นทางนักการเมืองหนุ่ม-มนตรีก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยการสนับสนุนของ "หม่อมคึกฤทธิ์" จากรองเลขาธิการพรรค ขยับเป็นเลขาธิการพรรคในวัย 46 ปี "มนตรี พงษ์พานิช" ไม่ใช่ลูกอยุธยาโดยกำเนิดเพราะ "เสี่ยหมึก" เป็นลูกชายของจำรัส-พริ้ง พงษ์พานิช ชาว อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก

"มาจากโคลน" ถ้อยวลีนี้ มนตรี หรือที่นักข่าวเรียกว่า "เสี่ยหมึก" มักเกริ่นนำทุกครั้งที่เล่าชีวิตตัวเอง

จากพิษณุโลก มนตรีร่อนเร่ไปอยู่กับพี่ชาย จนเรียนจบจากโรงเรียนยุพราชเชียงใหม่ แล้วก็ล่องเมืองกรุง เรียนจบช่างกลปทุมวัน ไปทำงานเป็นลูกจ้างกรมทางหลวง สอบชิงทุนไปฝึกงานและเรียนต่อในโรงเรียนช่างกลระดับสูงในเยอรมันตะวันตก เทียบเท่าปริญญาโท


มนตรีใช้เวลาอยู่ในต่างประเทศ 8 ปี กลับเมืองไทยทำงานกับบริษัท บี.กริมแอนด์โก เป็นนายช่างใหญ่ แต่งงานกับคุณหญิงธิดา พงษ์พานิช ลูกสาวเจ้าของโรงสีอยุธยา ระหว่างที่ทำงานอยู่ บี.กริม มนตรีมีเพื่อนรักชาวอยุธยาคนหนึ่งนั่นคือ "พ้อง ชีวานันท์"

เส้นทางนักการเมืองหนุ่ม "มนตรี" สู่ "เจ้าพ่อโปรเจกท์"

มนตรี พงษ์พานิช

บังเอิญน้าชายของคุณหญิงธิดา เป็นนักการเมืองท้องถิ่นชื่อ "บุญพันธ์ แขวัฒนะ" และปี 2519 บุญพันธ์เป็นรองหัวหน้าพรรคเกษตรสังคม จึงชวนมนตรีลงสมัครส.ส.อยุธยา ในสีเสื้อเกษตรสังคม ทั้งคู่สอบได้

ถัดมาบุญพันธ์และมนตรีย้ายมาสังกัดพรรคกิจสังคม เพราะเสี่ยหมึกมีความเลื่อมใสในตัว "หม่อมคึกฤทธิ์" หัวหน้าพรรคกิจสังคมเวลานั้น

เส้นทางนักการเมืองหนุ่ม "มนตรี" สู่ "เจ้าพ่อโปรเจกท์"

บุญพันธ์ แขวัฒนะ

นับแต่นั้นมาเส้นทางนักการเมืองหนุ่ม-มนตรีก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยการสนับสนุนของ "หม่อมคึกฤทธิ์" จากรองเลขาธิการพรรค ขยับเป็นเลขาธิการพรรคในวัย 46 ปี

เลือกตั้ง 2531 พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม แต่ศูนย์กลางของพรรคกลับอยู่ที่เสี่ยหมึกในฐานะแม่บ้านพรรค เนื่องจาก พล.อ.อ.สิทธิ ยังติดนิสัยข้าราชการประจำ ไม่มีความเป็นนักการเมือง ไม่มีความสัมพันธ์กับลูกพรรค


ตรงกันข้ามเสี่ยหมึกมีสไตล์ทำงาน "ถึงลูกถึงคน" แบบนักเลงลูกทุ่ง มีความโดดเด่นในการเป็น "นักต่อรอง" "นักประสานผลประโยชน์" และ "นักเฉลี่ยผลประโยชน์" จึงมีลูกพรรคมาติดสอยห้อยตามเกือบทั้งพรรค

มนตรีเรียนกลยุทธ์การเมืองเหล่านี้มาจาก "บุญพันธ์ แขวัฒนะ" เสี่ยหมึกจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงจิตวิญญาณนักการเมืองแบบไทยๆ ได้ดีกว่า พล.อ.อ.สิทธิ หัวหน้าพรรคเวลานั้น

ด้วยบารมีที่มากล้นในพรรคกิจสังคม ในการเข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย มนตรีจึงได้ตำแหน่ง "รัฐมนตรีคมนาคม" ปี 2533 มนตรีจึงเป็นคนอนุมัติโครงการโฮปเวลล์ โดยมีคนใกล้ชิดอย่าง อนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ อดีต ผอ.บริษัทไทยเดินเรือทะเล เป็นคนเดินเรื่อง

ตั้งแต่มนตรีเป็นรมช.คมนาคม ปี 2525 ก็ได้เพื่อนเก่า-พ้อง ชีวานันท์ เป็นที่ปรึกษา และพ้องได้ย้ายไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง เรียกว่ามนตรีได้โควตานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงไหน พ้องก็ต้องไปนั่งเป็นที่ปรึกษา


โครงการสำคัญๆ ไม่ว่าโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ดาวเทียมไทยคม โฮปเวลล์ และสร้างถนน ในช่วงที่มนตรีนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคมนาคมปี 2531-2533 ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีโปรเจกท์เยอะที่สุด พ้องก็เป็นตัวละครที่ใกล้ชิดเหตุการณ์มากที่สุด

เส้นทางนักการเมืองหนุ่ม "มนตรี" สู่ "เจ้าพ่อโปรเจกท์"

หลังมนตรีเสียชีวิต พ้องจึงสมัครส.ส.อยุธยา สานต่อมรดกการเมืองของมนตรี เป็นส.ส.อยุธยา อยู่หลายสมัย และวันนี้ นพ ชีวานันท์ ลูกชายของพ้อง ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้แทนฯ กรุงเก่าแทนบิดา (เสียชีวิตแล้ว)

logoline