svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดปมคาใจ กกต.แจกใบส้ม แจ้งข้อหา "ธนาธร" ได้จริงหรือ?

24 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับเส้นทางคดีโอนหุ้นของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในทางกฎหมาย ทั้งอำนาจการแจกใบส้มของ กกต.ว่ามีจริงหรือไม่ และขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งกฎหมายเขียนแยกไว้ต่างหากจากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต

จากการตรวจดูกฎหมายเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พบว่า ได้บัญญัติให้อำนาจ กกต. ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยแยกเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต กับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สำหรับผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 49-54 กกต.สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้งจนถึงก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้ง และหลังช่วงประกาศรับรองผลไปแล้ว

โดยในช่วงก่อนประกาศรับรองผล สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาคุณสมบัติ สั่งเพิกถอนสถานะการเป็นผู้สมัคร อีกทั้งสามารถแจก "ใบส้ม" ได้ กรณีผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบติ แต่ก็ยังฝืนลงสมัคร ซึ่งในส่วนนี้จะมีโทษจำคุก 1-10 ปี โทษปรับ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี ตามมาตรา 151 ด้วย โดยการพิจารณาวินิจฉัยอยู่ในอำนาจของศาลฎีกา

ส่วนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ กฎหมายบัญญัติแยกเอาไว้ในมาตรา 59-61 กกต.สามารถตรวจสอบคุณสมบัติได้เฉพาะก่อนวันเลือกตั้ง โดยส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่หากพ้นช่วงเวลานั้นมาแล้ว ต้องรอหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งก่อน หากผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กกต.ค่อยตามไปสอยภายหลัง ด้วยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่งในประเด็นขาดคุณสมบัติ และบุคคลผู้นั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ทันที

เหตุนี้เอง มติ กกต.ในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร ในประเด็นคุณสมบัติ จึงถูกตั้งคำถามจากเลขาธิการพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ว่า กกต.ตรวจสอบคุณสมบัตินายธนาธร ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในช่วงนี้ได้อย่างไร เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ดำเนินการได้ช่วงหลังเลือกตั้งไปแล้ว

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลจากนักกฎหมายว่า กกต.อาจใช้กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ซึ่งนักกฎหมายบางส่วนมองว่า กกต.สามารถใช้ช่องทางนี้แจ้งข้อหากับนายธนาธรได้เลย หากนายธนาธรชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้น ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยต่อไป ทำให้นายธนาธรมีโอกาสโดนโทษทั้งจำคุก และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

แต่นักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่า มาตรา 151 อยู่ในส่วนที่เป็น "บทกำหนดโทษ" ซึ่งต้องมีการดำเนินการตาม "บททั่วไป" มาก่อน แล้วพบว่ามีความผิด จึงจะมาบังคับตามมาตราที่เป็น "บทกำหนดโทษ" แต่ปรากฏว่าในบททั่วไป ไม่ได้มีระบุช่องทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในช่วงหลังเลือกตั้งไปแล้ว จึงมีการตั้งคำถามว่า กกต.ใช้อำนาจตามกฎหมายมาตราไหนในการตรวจสอบและแจ้งข้อหา เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงหลังเลือกตั้ง และรอประกาศรับรองผลอยู่ ฉะนั้นหากใช้อำนาจตามมาตรา 151 ทันที น่าจะเป็นการข้ามขั้นตอน

logoline