svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมอนามัย เผยคุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญ ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้น

20 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำ หยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง พบว่าคุณภาพน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญมีแนวโน้มดีขึ้น

โดยปี 2561 มีผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ร้อยละ 68.59 สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียงร้อยละ 40.9 ปัญหาหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์คือปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากไม่มีการดูแลรักษาความสะอาดของตู้น้ำหยอดเหรียญและขาดการบำรุงรักษาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำภายในตู้ เช่น ไม่ล้างไส้กรอง ไม่เปลี่ยนไส้กรอง เป็นต้น
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ประชาชนที่ใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ ควรสังเกตสภาพของตู้น้ำหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอก ตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อนหรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่มีคราบสกปรกหรือฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสมกับอาหาร เช่น สแตนเลส ไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง ต้องสะอาด ไม่เป็นตะไคร่หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ สังเกตสี และกลิ่นของน้ำจะต้องไม่ผิดปกติ ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดงคำแนะนำการใช้งาน รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์แสดงรายการตรวจสอบหรือดูแลรักษาที่น่าเชื่อถือ ระบุชื่อบริษัทเจ้าของ ชื่อผู้ตรวจ วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน หากพบตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ มีสภาพชำรุด หรือสงสัยว่าน้ำจาก ตู้น้ำหยอดเหรียญนั้น ไม่สะอาดอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ เข้ามาตรวจสอบและดูแลได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของราชการส่วนท้องถิ่นในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายการสาธารณสุข

กรมอนามัย เผยคุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญ ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้น


"ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการส่งเสริมให้การประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นไปอย่าง ถูกกฎหมายและมีสุขลักษณะที่ดีในการประกอบกิจการ ได้แก่ การจัดทำคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ การจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่อง สุขลักษณะการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบคุณภาพในการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ (EHA 2003) รวมไปถึงการพัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยในส่วนของการควบคุมกำกับการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 นั้น ต้องอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการกวดขันด้านสุขลักษณะตามข้อบัญญัติท้องถิ่นและกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการขออนุญาต โดยผู้ประกอบการจะต้องมายื่นขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประกอบกิจการไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

logoline