svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โต้ไม่เลิก "สูตรคำนวณปาตี้ลิสต์" ลุ้นศาล รธน.

17 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงบ่ายวันนี้ ฝ่ายการเมืองทุกกลุ่มทุกขั้วคงรอเงี่ยหูฟังผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับวินิจฉัยเรื่องที่ กกต.ส่งให้ช่วยชี้ขาดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือไม่

กกต.มีมติเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน ก่อนวันหยุดยาวสงกรานต์ / สรุปมติก็คือให้ส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หาก กกต.คำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน "ส.ส.พึงมีได้" ต่ำกว่า 1 / ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน / การคำนวณแบบนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ / เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) กำกับเอาไว้ว่า ผลจากการคำนวณ ต้องไม่ทำให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.เกินจำนวน "ส.ส.พึงมีได้"
มีรายงานว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมกันในวันนี้ เพื่อพิจารณาและลงมติว่าจะรับเรื่องที่ กกต.ส่งมา ไว้พิจารณาหรือไม่ความเคลื่อนไหวของ กกต.ในเรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักตลอดช่วงวันหยุดสงกรานต์ และล่าสุดก็ยังมีเสียงวิจารณ์อยู่ / นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า จริงๆ กกต.ต้องพิจารณาเองก่อนว่า สิ่งที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยมีความก้ำกึ่งหรือขัดแย้งทางกฎหมายจนถึงขั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือยัง เพราะการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. แต่ กกต.ไม่มั่นใจการทำงานของตนเอง จึงได้โยนภาระไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นตนจะติดตามต่อไปว่าศาลจะรับเรื่องไว้วินิจฉัยหรือไม่

ขณะที่อดีต กกต. นายสมชัย จึงประเสริฐ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งว่า จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ขัดหรือแย้งกัน แต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยแยกเป็น 2 กรณี คือกรณีไม่มี "โอเวอร์แฮงก์" ซึ่งหมายถึงไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.เขตมากกว่า "ส.ส.พึงมี" / กับกรณีที่เกิด "โอเวอร์แฮงก์" ซึ่งหมายถึงมีพรรคการเมืองบางพรรคได้ ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.พึงมี
สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ประกาศออกมา เกิดกรณี "โอเวอร์แฮงก์" คือพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นก็ต้องคำนวณตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (4) และ (5) คือให้นำ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด 150 คน ไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต ต่ำกว่าจำนวน "ส.ส.พึงมี" / โดยจัดสรรกันตามอัตราส่วนให้กับพรรคที่ได้ "ส.ส.พึงมี" เป็นจำนวนเต็มก่อน / ดังนั้นพรรคการเมืองที่ได้จำนวน "ส.ส.พึงมี" ต่ำกว่า 1 ซึ่งหมายถึงพรรคที่ได้คะแนนโหวตทั้งประเทศไม่ถึง 71,000 คะแนน (ตัวเลขจะเป็น 0.xxx ศูนย์จุดกว่าๆ ไม่ถึง 1) ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่ที่นั่งเดียว เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มากกว่า "ส.ส.พึงมีได้" ซึ่งขัดกับมาตรา 128(5)
แต่วิธีคำนวณแบบนี้ก็ถูกโต้แย้งจากอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.เช่นกัน โดย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีต กรธ. บอกว่า เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ / กรธ.ยืนยันชัดเจนว่า ต้องนำทุกคะแนนเสียงของทุกพรรคไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็กที่ส่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มาคิดคำนวณด้วย / หากจะยึดแค่พรรคที่ได้ 71,000 คะแนนขึ้นไปถึงจะได้ ส.ส. 1 คน ก็จะเกิดคำถามว่าหากคำนวณแล้วปัดเศษ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปให้พรรคที่ได้คะแนนเกิน 71,000 คะแนนเท่านั้น / ในส่วนของเศษทศนิยมของพรรคเหล่านั้นก็ถือว่าได้ไม่ถึง 71,000 คะแนนเช่นกัน และอาจน้อยกว่าพรรคเล็กด้วย / เรื่องนี้จะมีคำตอบอย่างไร / ฉะนั้นเพื่อความเป็นธรรม จึงต้องนำทุกคะแนนเสียงมาคิดคำนวณทั้งหมด

logoline