svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

วิบากแห่งอดีต "พ่อของฟ้า" ในกรงกรรม

06 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชะตากรรมของธนาธร ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. และนอกจากเรื่องโอนหุ้น ก็ตามมาด้วยเรื่องคดีพาผู้ต้องหาหลบหนี อุณหภูมิการเมืองหลังเลือกตั้ง 2562 ส่อเค้าขัดแย้งรุนแรงกว่าช่วงหาเสียง เมื่อนักเลือกตั้งหลายกลุ่มเล่นเกมใต้ดิน ใช้สงครามโซเชียล พุ่งเป้าดิสเครดิต กกต. จุดกระแสมวลชน ปูทางสู่ท้องถนน

************          

ด้านหนึ่ง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตรองประธานกรรมการ ไทยซัมมิท กรุ๊ป และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กำลังเผชิญหน้ากับการตรวจสอบกรณี "โอนหุ้น" ใน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นกิจการผลิตนิตยสาร ที่ตัวเขาเองและภรรยา รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยถือหุ้นรวมกัน 900,000 หุ้น ไปให้มารดา สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเกิดคำถามว่าจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ชะตากรรมของธนาธร ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. และนอกจากเรื่องโอนหุ้น ก็ตามมาด้วยเรื่องคดีพาผู้ต้องหาหลบหนี 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์หน้า สน.ปทุมวัน เมื่อกลางปี 2558 "ธนาธร" ใช้รถตู้พากลุ่มผู้ต้องหาหลบหนี โดยรถตู้คันนั้น มีชื่อ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธรเป็นเจ้าของ โดยตำรวจได้ออกหมายเรียกสมพรมาให้ข้อมูลตั้งแต่ปีเดียวกันนั้นแล้ว โดยสมพรส่งทนายมาให้ข้อมูล 1 ครั้ง หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้เรียกอีก

การแจ้งข้อหาคดี มาตรา 116 และมาตรา 189 แก่ธนาธรในครั้งนี้ ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องหา "คดีอาญา" เป็นคดีที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับพวกรวม 3 คน ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) จากกรณีวิจารณ์พลังดูดของ คสช. ผ่านการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โดยฝ่ายกฎหมาย คสช. เห็นว่าเป็นการพาดพิงและกล่าวหา คสช. และโจมตีกระบวนการยุติธรรม

พรรคการเมืองที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ส. สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนทั้งประเทศ แต่หากพลิกปูมชีวิต "สองผู้นำ" จะพบว่า หลายกรณีที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียล ล้วนเกิดจากผลแห่งการกระทำในอดีตของพวกเขาทั้งสิ้น

"ฟ้าเดียวกัน" ตามหลอน

สมัยที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ ช่วงเดือนมีนาคม 2561 โดยพยายามประกาศแนวทาง "พรรคทางเลือก" แต่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของกัลยาณมิตรอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส

"ผู้นำอนาคตใหม่-The Future We Want ยังไม่ทันใช้ความพยายามอะไร ยังไม่ทันเผชิญอุปสรรคอะไรมากมายใหญ่โต ก็ดร็อปเรื่อง 112 ซึ่งพวกเขาพูดเองหลายครั้งว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหา ไม่มีใครที่คิดหรืออ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย พูดถึงอะไรที่ว่ามีปัญหามาก แต่พอลงเล่นการเมืองกลับไม่เสนอเป็นนโยบายให้แก้ไข"

"สมศักดิ์" วิพากษ์ผู้นำอนาคตใหม่ตรงๆ แต่มาถึงวันนี้ สมศักดิ์ที่ป่วยไข้อยู่ ไม่ได้มีโอกาสลุกขึ้นโพสต์ความเห็นทางเฟซบุ๊กอีก ขนาด "ธนาธร-ปิยบุตร" ไม่จับประเด็นแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายพรรค ก็ยังเจอนักขุดคุ้ยทั้งหลาย นำเอาคลิปเก่าสมัยรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 มาเผยแพร่ซ้ำ จนกลายเป็นเรื่องการเมือง

วารสาร "ฟ้าเดียวกัน" ก็เป็นอีกประเด็นที่ธนาธรต้องเผชิญ โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งวารสารฟ้าเดียวกัน คือ "ชัยธวัช ตุลาธน" ซึ่งเปรียบเสมือน "เงา" ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เมื่อชัยธวัชเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รหัส 39 และเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2541 ธนาธรก็เป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2542 และเป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2543

ปี 2545 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ชัยธวัช ตุลาธน และธนาพล อิ๋วสกุล ได้สุมหัวกันคิดตั้ง "สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน" เพื่อผลิตวารสารฟ้าเดียวกัน ระหว่างนั้น บิดาของธนาธรเสียชีวิต สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาขอให้ลูกชายกลับไปช่วยดูแลธุรกิจของอาณาจักรไทยซัมมิท จึงเหลือแค่ชัยธวัช กับธนาพล ลุยงานนิตยสารฟ้าเดียวกันต่อไป โดยธนาธรให้การสนับสนุนอยู่ห่างๆ

เมื่อธนาธรลุยการเมือง ชัยธวัชก็เข้ามาช่วยงานในตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ทำหน้าที่วางแผน วางกลยุทธ์การหาเสียงจนประสบชัยชนะอย่างท่วมท้น

"ปิยบุตร" ในร่มเงานิติราษฎร์

กำเนิดพรรคอนาคตใหม่ น่าจะมาจาก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ที่ชักชวนให้ทายาทอาณาจักรไทยซัมมิทมาตั้งพรรค 

"ปิยบุตร" อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเป็นศิษย์รุ่นแรกของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งสำนักนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลังจบปริญญาเอกกฎหมายจากฝรั่งเศส ก็มาเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์


"คณะนิติราษฎร์" เกิดจากแนวคิดอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 7 คน ซึ่งมีข้อเสนอทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสังคมไทย เริ่มจากเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 2549

ปี 2554 คณะนิติราษฎร์ แถลงข้อเสนอทางวิชาการ และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นครั้งแรก พร้อมกับการก่อตั้ง "คณะรณรงค์ 112 หรือ "ครก.112" เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อ

ดังนั้น ปิยบุตรเป็นเสมือนตัวแทนคณะนิติราษฎร์ ที่จะมาสานต่อแนวคิดลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ผ่านกระบวนการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา

ขบวนการปั้น "โรม" 

เหมือนฉายหนังซ้ำ เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาช่วย "ผู้ต้องหา" หลบหนีการจับกุม

ผู้ต้องหารายนั้นชื่อ "รังสิมันต์ โรม" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคอการเมืองคงจำชื่อ และหน้าตา "โรม" ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเขาทำกิจกรรมต้านเผด็จการ ตั้งแต่ปีแรกยันปีที่ 5 ของ คสช.

โรมหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

กลางปี 2558 โรมก่อตั้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทำกิจกรรรมต้านเผด็จการทหาร ในวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร จึงถูกออกหมายจับ เพราะขัดคำสั่ง คสช.

โรมถือฤกษ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2558 นัดหมายเพื่อนๆ ที่ถูกออกหมายจับเข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งวันดังกล่าว มีกลุ่มอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย และคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจหลายร้อยคน รวมถึงธนาธรด้วย

สี่ทุ่มกว่า โรมกับพวก กำลังเดินทางออกจากโรงพัก ตำรวจนอกเครื่องแบบเตรียมประกบ โรมไหวตัวทัน วิ่งหลบหนีไปขึ้นรถตู้ของธนาธร

ปลายทางของรถตู้คือ "สวนเงินมีมา" ซอยเจริญนคร 20 ฝั่งธนบุรี ที่มีรุ่นพี่เอ็นจีโอของกลุ่มโรม ประสานไว้ให้เป็นที่พักหลับนอนเรียบร้อยแล้ว

เวลานั้น มีรายงานข่าวทำนองว่า ธนาธรเป็นนายทุนหนุนม็อบนักศึกษา แต่เรื่องดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธจากข่าวกอสซิปอีกสำนักข่าวหนึ่ง

หลังจากม็อบต้าน คสช.ยกแรกผ่านไป โรมแยกทางกับเพื่อนนักศึกษากลุ่มอื่น มาตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยพยายามปลุกมวลชนต้านเผด็จการ แต่จุดไม่ติด

ปลายปี 2560 โรมตั้งกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมกับ อานนท์ นำภา, ปิยรัฐ จงเทพ, "จ่านิว" สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ "โบว์" ณัฏฐา มหัทธนา เคลื่อนไหวกดดัน คสช.ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายในสิ้นปีนั้น  


ฝ่ายความมั่นคง จึงประเมินว่า มีอาจารย์หลายคนอยู่เบื้องหลังกลุ่มของโรม จึงได้ออกแบบการเคลื่อนไหวต้าน คสช.อย่างต่อเนื่อง มาจนถึงวันที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่ จึงถูกจับตามองตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค จนถึงช่วงหาเสียง เนื่องจากตัวละครระดับแกนนำพรรคต่างมีชื่ออยู่ในแบล็กลิสต์ของฝ่ายผู้ถืออำนาจ  

logoline