svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

250 เสียง เกมปั่นกระแส? ขั้ว "ลุงตู่"

28 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถ้าหากมีแกนนำพรรคตัวแปรสำคัญ อย่างเช่น เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปปรากฏตัวร่วมวงแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเมื่อช่วงสายของวันพุธ แบบนั้นจึงจะเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งบิ๊กเซอร์ไพรส์ของฝ่ายเพื่อไทย สมราคาตั้งโต๊ะแถลงปั่นกระแส พรรคเสียงข้างมาก

หนำซ้ำยังไร้เงาของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เจ้าของ 6 คะแนนเสียงเสียด้วยซ้ำ


ประเด็นที่ได้จากวงแถลงข่าวจึงยังหมุนวนอยู่ที่เดิม ตอกย้ำวาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตย กับความชอบธรรมพรรคเสียงข้างมาก 135 ที่นั่ง


ถ้าย้อนหลังไปดู คราวที่ขั้วเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยยังเป็นไทยรักไทยนั่น คะแนนเสียงข้างมากของพลพรรคนี้คือเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ได้คะแนนเสียง 248 ที่นั่ง

ถัดมาเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 กวาดที่นั่งถล่มทลาย 375 เก้าอี้

เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ไทยรักไทยที่กลายร่างมาเป็นพลังประชาชน โดยการนำของสมัคร สุนทรเวช กำชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 233 ที่นั่ง


ล่าสุด เลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำพรรคเพื่อไทยกำชัยท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง 265 ที่นั่ง


ทั้ง 3 ครั้ง ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่มีใครสงสัยอะไร

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทย แถลงรวบรวมเสียงข้างมากเกินครึ่งของสภา หรือมากกว่า 250 เสียง แต่ถ้านับพรรคเพื่อไทยโดดๆ คะแนนของพรรคนี้คือ 135 มากกว่าพลังประชารัฐ 117 เสียงไปไม่ไกล

ความชอบธรรม เสียงข้างมาก กับป๊อปปูลาร์โหวต จึงถูกนำมาเกทับบลัฟกัน

ประเด็นนี้มีผู้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางทั้งปีกการเมืองและนักวิชาการ แต่ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน อำกันสนุกสนาน ไม่พ้นโลกโซเชียล แต่ถึงกระนั้น ธรรมเนียมประเพณี ตลอดถึง "สัจจะ" ในทางการเมืองจะมีอยู่จริงหรือไม่ ต้องไปฟัง "สรอรรถ กลิ่นประทุม" ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย


"ตัวเลขยังไม่นิ่ง ทุกฝ่ายก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเด็นสำคัญคือใครสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าเคยมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในพิธีลงสัตยาบันระหว่างพรรคการเมือง ที่นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ซึ่งผมได้ถามย้ำในที่ประชุมแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ถึงจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ ซึ่งทุกพรรคก็เห็นพ้องว่าใช่ รวมถึงพรรคเพื่อไทย แต่ในวันนั้นไม่มีพรรคพปชร.เข้าร่วม"

แต่นั่นก็ยังเป็นแค่เกมปั่นกระแส สร้างภาพให้สังคม โดยเฉพาะในโลกโซเชียลเลอะลืมของจริงเที่ยงแท้แน่นอน ที่ถูกกำหนดเอาไว้โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทุกคนก็รู้กันดี โดยเฉพาะ สุดารัตน์ ภูมิธรรม เสรีพิศุทธ์ ธนาธร ฯลฯ

ตามไทม์ไลน์การเมือง กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะเริ่มขึ้นหลัง กกต.ประกาศรับรอง ส.ส. 350 คน คือหลังวันที่ 6 พฤษภาคม จากนั้นจึงจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ตามด้วยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเพื่อเลือกประธาน ตามมาด้วยการเรียกประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกพรรคที่ได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภา 500 คน คือ 25 เสียงก็สามารถเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ลุงตู่ สุดารัตน์ ธนาธร เสรีพิศุทธ์ อนุทิน อยู่ในระนาบเดียวกัน คือมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส.ชูมือหนุนทุกคน

แต่ใครจะได้เป็นนายกฯ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตัวจริงเสียงจริงนั้น ต้องย้อนกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 159 มาตรา 256 และมาตรา 272


โดยสรุปก็คือ การเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในระยะ 5 ปีแรก ที่มีรัฐสภาชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องเป็นการประชุมออกเสียงร่วมกันของ สภาผู้แทนราษฎร(500) และวุฒิสภา(250) ซึ่งผู้จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

ฟังกันอีกครั้ง ...ต้องได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งของรัฐสภาคือ 375 เสียงขึ้นไป หรือ 376 คนขึ้นไปนั่นเอง

250 กว่าเสียงของปีกเพื่อไทยจะทำอย่างไร ปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน ?

นั่นคือกระแส ก็ว่ากันไป เพราะก็รู้ๆ กันมาตั้งนานแล้วว่า นอกจากกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ "ล็อกสนิท" ปิดตายเอาไว้ ประธานคัดตัว ส.ว.ยังเป็น บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ที่ลั่นวาจาว่า ปั้นมากับมือก็ต้องคุมได้อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม ในฟากฝั่งของพลังประชารัฐ ที่มีคะแนน 117 เสียง เพียงออกแรงหาพรรคร่วมอีกแค่ 9 ที่นั่ง ก็จะครบ 126


ไปรวมกับ ส.ว. 250 ที่รอยกมืออยู่แล้ว เท่ากับ 376 ผ่านโหวตสบายๆ

หลังเลือกนายกฯ เสร็จสรรพโอกาสเกิด "งูเห่า" ไหลกลับจากฟากฝัน มาลงรูในโลกความจริงของลุงตู่ก็มีความเป็นไปได้สูง

ลุงตู่อยู่เฉยๆ นั่งดูเกมเปิดหน้าใต้ร่มเงานายใหญ่ไปพลาง หลัง กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง และมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ถึงตอนนั้นต่างหาก...ของจริง

logoline