svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ผลสำรวจชี้โชห่วยปรับตัวน้อยแบกภาระหนี้ 4.6 แสนบาท/ราย

26 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจธุรกิจโชห่วย รับผลกระทบจากคู่แข่งค้าปลีกค้าส่งยุคใหม่รุกคืบ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขาดความรู้ ชี้ปมส่วนใหญ่ยังไม่ปรับตัว เพราะไม่เห็นความสำคัญ และมีข้อจำกัดด้านเงินทุน อีกทั้ง มีภาระหนี้ทั้งใน-นอกระบบ เฉลี่ย 4.62 แสนบาทต่อราย ด้าน "SME D Bank" ประกาศเติมทักษะเพิ่มขีดความสามารถ คู่เติมทุนดอกเบี้ยต่ำ ติดปีกโชห่วยเติบโตอย่างเข้มแข็งมั่นคง

ผศ.ดร.ธนวรรธน์พลวิชัยรองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจ"สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย" ว่าข้อมูลจากสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  ร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ "โชห่วย" มีจำนวน 395,006 ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  ประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่  ค้าขายออนไลน์และโมเดิร์นเทรด ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า  ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง  

 

การสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการร้านโชห่วย  1,246 ราย   พบว่า85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และ 14.01%  ในรูปแบบนิติบุคคล  โดย 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียว และส่วนใหญ่33.09% ทำอาชีพนี้มา 7-10 ปี  มีรายได้เฉลี่ย51,665.94 บาทต่อเดือน ซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้นโดยต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน

 



ทั้งนี้31.7% จะใช้บ้าน/ทาวน์เฮาส์ทำเป็นร้าน และส่วนใหญ่ 28.59%ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัด 61.6% จะขายสินค้าจิปาถะ ส่วน 38.4% ขายสินค้าเฉพาะอย่างด้านแหล่งที่มาของสินค้า 41.3%จากพนักงานขาย 31.2%ซื้อจากห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตและ 27.5%ซื้อจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ในตัวเมือง โดยกลุ่มตัวอย่าง 61.7% บอกว่า มีรายได้จากการขายสินค้าในร้านเท่านั้นส่วน 38.3% มีรายได้เสริมจากบริการอื่นๆ ด้วย เช่น ตู้หยอดเหรียญ เติมเงินมือถือรับชำระบิล ถ่ายเอกสาร/รับ-ส่งแฟกซ์ และอื่นๆ เป็นต้น ด้านการออมนั้น เฉลี่ย 7,282.66 บาทต่อเดือน ซึ่ง 59.16% ออมทุกเดือน



 

สำหรับผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจโชห่วยกับคู่แข่งในช่วงปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข่งขันได้น้อย  เมื่อเทียบกับการขายออนไลน์  ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ และโมเดิร์นเทรด ทั้งในเรื่องราคาสินค้าบริการ สภาพสินค้า เป็นต้น

 

แม้จะแข่งขันได้น้อยทว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลยเพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด  และ 39.77% มีปรับตัวน้อยเพราะบอกว่ามีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62%ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่ มีเพียง13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัยสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า  เช่น ปรับปรุงร้านใหม่  เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ  มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลายตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ

 

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง 23.97% มีการค้าขายออนไลน์เสริม เพราะเห็นถึงพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ส่วน  76.03% ยังไม่มีการขายออนไลน์เสริม จากเหตุผลเช่น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยอดขายดีอยู่แล้ว ไม่รู้ทำอย่างไร  คิดว่าสินค้าที่ขายไม่โดดเด่น และกลัวถูกโกงเป็นต้น  

 

ด้านสถานภาพธุรกิจร้านโชห่วยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่บอกว่า ยอดขายเท่าเดิม และคิดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้ายังเท่าเดิม เมื่อถามถึงสาเหตุที่ธุรกิจได้การตอบรับดีจากลูกค้า ได้แก่สินค้าได้มาตรฐาน พนักงานบริการดี สินค้าราคาเหมาะสม สินค้าหลากหลาย และหาง่ายตามลำดับ

 

ส่วนต้นทุนในการทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้นมาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน  โดย 53.13%มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาทอัตราผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน  แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน  5,754.52 บาท   ทั้งนี้ ภาระหนี้ในปัจจุบันนั้นทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่  เป็นต้น  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่า ภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ

 

เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อและการเข้าถึงสินเชื่อ  ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการคือ 182,500 บาท โดย 57.06% บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ ทว่า42.94% คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ  ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี  โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น    

 

ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อคือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น31.16% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15% บอกว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น

 

 

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้แก่ 1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น   2.การลดต้นทุน การตั้งราคาและการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย และ 4.ด้านการเกษตร เช่นแหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร ส่วนข้อเสนอแนะ และสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว). หรือ SMED Bank ได้แก่ ลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม เช่น 1.การยื่นเอกสารข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ 2.ลดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ 3.ปล่อยเงินกู้ระยะยาวสนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพต่างๆ และ 4.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความรู้ความเข้าใจ และบุคลากรในองค์กร

 

นายพงชาญสำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ SME D Bank  กล่าวว่า ธุรกิจร้านโชห่วยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างยิ่งเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดชุมชน มีจำนวนถึงเกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในปัจจุบันด้วยการแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  จำเป็นต้องปรับตัวยกระดับธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถธุรกิจและเพิ่มรายได้  อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจพบว่า ยังมีผู้ประกอบการร้านโชห่วยจำนวนมาก ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลยรวมถึง มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน จึงยากที่จะพัฒนาธุรกิจ

 

ดังนั้นธนาคารจึงดำเนินกิจกรรมยกระดับธุรกิจโชห่วยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่ง"เติมทักษะ" ให้ความรู้ เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ระบบบัญชีและขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น ตามด้วยการ "เติมทุน"  ผ่านโครงการ "สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน"(LocalEconomy Loan)  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยค้าปลีกค้าส่ง รวมถึง ธุรกิจเกษตรแปรรูป อาชีพอิสระ ท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ใช้เป็นทุนหมุนเวียนปรับปรุงยกระดับธุรกิจให้สะดวกทันสมัย  โดยคิดดอกเบี้ยต่ำผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี  บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  และหากยกระดับเป็นนิติบุคคลอัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก  3 ปีแรกเพียง0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  นอกจากนั้น "เติมคุณภาพชีวิต" สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ  สร้างความมั่นคงในชีวิตนำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข

 

"ธนาคารจะนำข้อเสนอแนะจากผลสำรวจครั้งนี้ไปพัฒนาเติมทักษะความรู้ให้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของผู้ประกอบการร้านโชห่วย รวมถึง พัฒนาบริการทางการเงินสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ดำเนินธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน"  นายพงชาญ กล่าว 

logoline