svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ระวัง!! เสริมอาหารและยาสมุนไพร ลักลอบใส่ยาแผนปัจจุบัน เตือนประชาชน อย่าซื้อมาบริโภค

19 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังได้รับแจ้งจากประเทศบรูไน เตือนอันตรายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาสมุนไพรปลอมปน ยาแผนปัจจุบัน อย. เร่งตรวจสอบ พบบางรายการจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ เตือนประชาชน อย่าเชื่อซื้อมาบริโภค อาจได้รับอันตราย

19 มี.ค. 62 - นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับแจ้งจากประเทศบรูไนเกี่ยวกับการถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาสมุนไพร เนื่องจากตรวจพบยาแผนปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Busaba Capsule ตรวจพบ Bisacodyl และ Hammer of Thor ตรวจพบ Sildenafil นอกจากนี้ ยังมียาสมุนไพรอีก 4 รายการ ที่พบการปลอมปนในยาแผนปัจจุบัน คือ 1. ยาสมุนไพร Ginseng Kianpi Pil ตรวจพบ Dexamethasone และ Cyproheptadine 2. Urat Saraf Kapsul ตรวจพบ Dexamethasone และ Diclofenac 3. Montain Jamu Pegal Linu Dan Asam Urat Kapsul ตรวจพบ Cyproheptadine 4. Jamu Caissar Raja Obat Kuat Kapsul ตรวจพบ Sildenafil ซึ่งจากการตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Busaba Capsule ทางสื่อออนไลน์ พบภาพฉลากภาษาไทยระบุชื่อ สมุนไพร ดีท็อกซ์ By Busaba เลขสารบบอาหาร 10-1-24858-1-0037 เมื่อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ พบว่า เลขสารบบอาหารดังกล่าวได้รับอนุญาตสำหรับชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ตราบุษบา) Dietary Supplement Product (Bussaba Brand) ผู้รับอนุญาตผลิตคือ บริษัท คาร์บีบ๊อก จำกัด เลขที่ 5/5 ซ.เลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ 3 แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ซึ่ง อย. ได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตผลิตอาหารของสถานที่ดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน 2561 ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาสมุนไพรดังกล่าว ที่อาจมีการลักลอบจำหน่ายทั้งทางสื่อออนไลน์และท้องตลาดและขอย้ำว่า การขายยาต่าง ๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ซึ่ง อย. มีการตรวจสอบโฆษณาและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดี ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เลขาธิการ ฯ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ตามรายชื่อดังกล่าวมารับประทาน อย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ควรซื้อยาผ่านทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรโดยตรง เนื่องจากมักจะตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ผู้บริโภคอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึง

logoline