svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) ยอดใช้สิทธิ์ล่วงหน้า กทม.-คนพิการทะลุ 80%

18 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับยอดผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ล่าสุดมีการสรุปยอดออกมาแล้ว โดยค่าเฉลี่ยทุกเขตมีผู้ลงคะแนนสูงถึง 87.22%

ปลัดกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ บอกว่า จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าของ กทม. ยอดรวมอยู่ที่ 810,306 คน คิดเป็น 87.22% จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้ทั้งสิ้น 929,061 คน
สำหรับเขตที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด 5 อันดับแรก นับตามจำนวนคน ได้แก่ เขตบางกะปิ ใช้สิทธิ์ 52,515 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 61,401 คน / เขต เขตบางขุนเทียน ไปใช้สิทธิ์ 36,755 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 42,510 คน / เขตห้วยขวาง ไปใช้สิทธิ์ 35,268 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 40,818 คน / เขตราชเทวี ไปใช้สิทธิ์ 30,343 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 33,959 คน / และเขตวัฒนา ไปใช้สิทธิ์ 27,078 คน จากที่ลงทะเบียนไว้ 31,846 คน
ส่วนเขตที่มีเปอร์เซ็นต์ผู้ไปใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตบางกอกใหญ่ 92.70% / เขตสัมพันธวงศ์ 91.86% / เขตพญาไท 91.62% / เขตปทุมวัน 90.89% และ เขตบางคอแหลม 90.80%
ภาพรวมคือเขตที่มีเปอร์เซ็นต์ผู้ไปใช้สิทธิ์มากๆ คือเขตที่มีคนลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ไม่มากนัก คือหลักพันคน / แต่ที่น่าปลื้มใจก็คือ ไม่มีเขตเลือกตั้งไหนที่มีผู้ใช้สิทธิ์ต่ำกว่า 80% เลยใน กทม. / ขนาดยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ลงทะเบียนไว้ 257 ยังไปใช้สิทธิ์ถึง 218 คน คิดเป็น 84.82% เลยทีเดียว

บรรยากาศการออกไปเลือกตั้งล่วงหน้ากันแบบถล่มทลาย แม้คนจะเยอะ คิวจะยาว แดดจะร้อน ก็ไม่ย่อท้อ ทำให้เกิดกระแสทางการเมืองว่าคนไทยกำลังต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองโดยใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการทุจริตเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องทางการเลือกตั้งล่วงหน้า มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้รู้และประชาชนทั่วไปในโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง สรุปเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้
- ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนใช้หลักฐานเฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีการพิมพ์มือเพื่อยืนยันตัวบุคคล
- การเก็บหีบบัตรลงคะแนนของผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า มีการรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้แค่ไหน เพราะแม้ กกต อ้างว่าสามารถตรวจสอบได้จากกล่องวงจรปิด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
- การพิมพ์บัตรเลือกตั้งและทำสัญลักษณ์เอาไว้โดยใช้หมึกพิมพ์แบบพิเศษ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีการตรวจสอบจากหน่วยเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือไม่ว่าบัตรเหล่านั้นเป็นบัตรจริงหรือปลอม รวมไปถึงบัตรลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าด้วย ซึ่งน่าจะเปิดกว้างให้ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนพรรคการเมืองสุ่มตรวจบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาเก็บรักษาไว้ ทั้งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม โดยใช้หลักการสุ่มตรวจตามหลักวิชาการ
- การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ ไม่มีข้อมูลว่ามีการส่งบัตรเลือกตั้งไปให้สถานทูตแต่ละประเทศจำนวนเท่าไหร่ และมีการใช้บัตรลงคะแนนจริงไปกี่ใบกันแน่ / มีบัตรคงเหลือส่งกลับส่งมาจำนวนเท่าไหร่ / จำนวนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรถือว่ามีความสำคัญ / หากไม่ได้ทำลายบัตรที่เหลือ แล้วมีผู้นำไปทุจริตระหว่างรอการตรวจนับ จะตรวจสอบได้อย่างไร
นี่คือข้อสังเกตจากหลายๆ ฝ่ายที่กลายเป็นโจทย์ของ กกต.ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นในประเด็นเหล่านี้ได้อย่างไร

logoline