svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

นายกฯ เปิดงาน "One Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology" จังหวัดนครราชสีมา

13 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนา สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปีและส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ "One Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology" "คมนาคมสร้างสุขให้อีสานบ้านเฮา" ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชน เข้าร่วมงานฯ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน และให้ถือเป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ประกอบกับคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแปลงเป็นแผนงาน โครงการ แผนปฏิบัติการและกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สังคม ให้มีความมั่นคง เสมอภาค และเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ


ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ อำนวยความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ของภูมิภาคตามกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม มั่นคงด้วยพลังงานทางเลือกใหม่และระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงาน (Green & Safe Transport) การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) ด้วยการออกแบบและการบริการเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design & Service Design) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงระบบคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมไทยบนพื้นฐานของการคิดค้นนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Innovation & Management)


โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน โคราช และท่าอากาศยานเบตง ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566 2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571 2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท และระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576 2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการสำคัญที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดผลักดัน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและยกระดับการคมนาคมขนส่งสินค้าในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) ทางราง ขยายโครงข่ายทางคู่ จากโครงข่ายร้อยละ 9เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 โดยมีโครงการที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับการผลักดัน เช่น รถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา แก่งคอย ช่วงชุมทางถนนจิระ ขอนแก่น ช่วงมาบกะเบา ชุมทางถนนจิระ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟเชื่อมต่อจากภาคกลาง บริเวณผาเสด็จ ซึ่งเป็นจุดคอขวด เพื่อให้การเดินทางจากภาคกลางมายังภาคอีสานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้ริเริ่มการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ โคราช หนองคาย เชื่อมโยง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว และจีนตอนใต้ โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพฯ นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตรเป็นลำดับแรก 2) ทางอากาศ ได้พัฒนาท่าอากาศยานหลักของประเทศ ให้รองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูมิภาค ทั้ง 28 แห่ง รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 42 ล้านคนต่อปี 3) ทางถนน พัฒนาโครงข่ายทางถนนเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ และเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย โดยก่อสร้างถนนสายหลักของประเทศเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางรวมเกือบ 3,000 กิโลเมตร ตลอดจนขยายทางหลวงโครงข่ายหลักตลอดเส้นทาง East West Corridor ผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านพิษณุโลก ขอนแก่น ไปบรรจบที่สะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่จังหวัดมุกดาหาร ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน นครราชสีมา พัฒนาทางหลวงหมายเลข 304 เป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างประเทศ โดยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ บอลิคำไซ) สะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี สาละวัน) และสะพานมิตรภาพ พญาเย็น จังหวัดสระบุรี ก่อสร้างศูนย์การขนส่งสินค้านครพนม ทางลอดดงอู่ผึ้ง เพื่อรองรับผู้ใช้รถใช้ถนนและการขนส่งสินค้า เปลี่ยนทางหลวงชนบทให้เป็นถนนลาดยาง และการทำจุดหยุดรถจักรยานและจักรยานยนต์บริเวณทางแยก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง 4) ทางน้ำ ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือบก ที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ประเทศต่าง ๆ ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง




การจัดนิทรรศการ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน โดยนิทรรศการจัดทำในรูปแบบผ่านสื่อ Multimedia ที่ทันสมัยภายใต้แนวคิด Seamless Mobility เชื่อมโยงทุกระบบคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวมทั้งกิจกรรมเวทีกลางตอบคำถามรับรางวัล สอดแทรกการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงฯ โครงการสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และส่งเสริมความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย


ทั้งนี้ การจัดงานนิทรรศการและเสวนาการสร้างการรับรู้ฯ "ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology" ครั้งต่อไปจะจัดขึ้น ณ จังหวัดกระบี่ ในเดือนเมษายน 2562

logoline