svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.ผงะ! รอบ 10 ปีพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 904 คน หรือวันละ 2.5 คน จับตาช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

02 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุข ชวนประชาชน ร่วมรณรงค์ "บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ"ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ซึ่งมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด มีนาคม - พฤษภาคมปีที่ผ่านมาพบ 231 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เล่นน้ำกันตามลำพัง

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในรอบ 10 ปีพบว่าเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 904 คน หรือวันละ 2.5 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดทุกปี โดยเดือนมีนาคม พฤษภาคมปีที่ผ่านมามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 231 คน คิดเป็นร้อยละ 34 ของเด็กที่จมน้ำตลอดทั้งปี เกือบครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์พบว่าเป็นการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำและไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง แหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำมากที่สุดคือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้ให้ทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564 หรือจำนวนการเสียชีวิตต้องไม่เกิน 360 คน

"ขอแนะนำประชาชนดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด พื้นที่เล่นต้องปลอดภัย มีคอกกั้น ส่วนเด็กโตสอนให้ยึดหลัก "ตกน้ำ อย่าตกใจ ตั้งสติ ลอยตัวไว้" การช่วยเพื่อนที่ตกน้ำ ให้ใช้ หลัก "ตะโกน โยน ยื่น" อย่าลงไปในน้ำเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้" นายแพทย์สุขุมกล่าว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้ชวนประชาชนช่วยกันรณรงค์ "บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ" ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนโดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน รถกระจายเสียง และจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และชุมชนตระหนักถึงโอกาสเสี่ยง วิธีการป้องกันการจมน้ำ รวมทั้งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดทีมผู้ก่อการดี อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีมช่วยกันดำเนินการอาทิ การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง สอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่าในการช่วยคนจมน้ำขอให้ใช้มาตรการ"ตะโกน โยน ยื่น"โดย ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำหลังจากช่วยคนจมน้ำขึ้นมาจากน้ำกรณีไม่หายใจให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเป่าปากและกดหน้าอก ทั้งนี้เน้นย้ำห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ผิด และรีบโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

logoline