svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) นักวิชาการเผย ภาคเหนือเสี่ยงแผ่นดินไหวทุกจุด

23 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อธิบายถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางว่าไม่ใช่สัญญาณอันตราย แต่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่ภาคเหนือมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวทุกพื้นที่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่ของกรมธรณี

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง และเกิดอาฟเตอร์ช็อคถึง 26 ครั้ง ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย รวมไปถึงเจดีย์วัดพระเกิดที่ยอดฉัตรเอียง เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ข้อถกเถียงของนักวิชาการด้านธรณีวิทยาถึงพฤติกรรมของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จะเป็นส่งการสัญญาณเตือนอันตรายหรือไม่

(คลิปข่าว) นักวิชาการเผย ภาคเหนือเสี่ยงแผ่นดินไหวทุกจุด


หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย เปิดเผยว่า การเกิดแผ่นดินไหวในลำปางครั้งนี้ยังไม่ใช่สัญญานอันตราย เพราะการเกิดแผ่นดินไหวที่มาเป็นขบวนแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวคาดว่า เกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้นที่เป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงแผ่นดินไหวกับรอยเลื่อนต่างๆ ปัจจัยนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง แผ่นดินไหวครั้งนี้จึงอาจเกิดนอกแนวรอยเลื่อนที่เรารู้จักก็เป็นได้

เราอย่าห่วงแค่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีรอยเลื่อน เพราะภาคเหนือมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา อย่างเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดแผ่นดินไหวที่จ.เชียงรายสูงถึง 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวที่ลำปางครั้งนี้อาจะทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักได้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ไม่ใช่แค่ที่เชียงรายแต่เกิดได้ทุกๆจังหวัดของภาคเหนือ

สำหรับประชาชนในภาคเหนือควรมีการเสริมกำลังอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติทางแผ่นดินไหว ที่ก่อให้เกิดความหายทางทรัพย์สินรวมไปถึงชีวิต เพราะจากที่สังเกตพบว่า มีอาคาร บ้านเรือนประชาชนไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติทางแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ ศ. ดร.เป็นหนึ่ง ยังเสนอแนะอีกว่า อยากให้ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านมีความรู้เรื่องการก่อสร้างตัวบ้านและโครงสร้างบ้านให้มีความคงทนแข็งแรง รองรับแรงต้านทานของภัยพิบัติแผ่นดินไหว เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ผู้รับเหมาบางคนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ ทำให้โครงสร้างบ้านเกิดความเสียหายขึ้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

logoline