svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) ชายแดนใต้คึก ผู้สมัครล้น เขตชนช้างอื้อ!

20 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พรรคการเมืองที่พาเหรดส่งผู้สมัครในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องบอกว่า "จัดเต็ม" จริงๆ ทั้งพรรคที่มีโอกาสสูงที่จะได้ ส.ส.เข้าสภา และอาจได้ร่วมรัฐบาล 2 หรือพรรคขนาดเล็กที่แทบจะไม่มีความหวังใดๆ แต่ก็พร้อมใจกันส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่ปลายด้ามขวานกันแทบทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์แชมป์เก่า เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และอนาคตใหม่

การเลือกตั้ง ส.ส.ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือดินแดนปลายด้ามขวานหนนี้ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายอย่างเริ่มจากจำนวนผู้สมัคร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 11 เขตเลือกตั้ง แยกเป็นปัตตานี 4 เขต นราธิวาส 4 เขต และยะลา 3 เขต มี ส.ส.ได้ 11 คน ปรากฏว่า กกต.เปิดรับสมัคร 5 วัน มีผู้สมัครรวมทั้ง 11 เขตมากถึง 391 คน เฉลี่ยเขตละ 30 กว่าคนเลยทีเดียวนอกจากนั้นยังมีพรรคไทยรักษาชาติที่กำลังโดนคดียุบพรรค ส่งผู้สมัครอีกหลายเขตด้วย

สาเหตุที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากมายเป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบ "คะแนนผู้แพ้ไม่เสียเปล่า" แต่ถูกนำไปนับรวมเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ทำให้พื้นที่สีแดงอย่างปลายด้ามขวานคึกคักไปด้วยผู้สมัคร ส.ส.สำหรับเขต "ช้างชนช้าง" ที่คอการเมืองต้องลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อ เพราะคะแนนความนิยมในตัวผู้สมัครค่อนข้างสูสี หายใจรดต้นคอ ก็คือ
ยะลา เขต 2 มีผู้สมัครสำคัญได้แก่ นายซูการ์โน มะทา (อ่านว่า ซู-กา-โน่) น้องชายของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ หมายเลข 8 / ลงชนกับ นายริดวาน มะเต๊ะ (อ่านว่า ริด-วาน) พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 4 อดีต สจ.ผู้กว้างขวาง ลูกชายของ "เปาะจิ ยือนอง" (อ่านว่า เป๊าะจิ๊) อดีตกำนันในอำเภอรามันที่ชาวบ้านรู้จักกันดี เรียกว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 บ้านใหญ่ของจังหวัดยะลาเลยทีเดียว

ปัตตานีเขต 4 เป็นการปะทะกันระหว่าง นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ทนายความคนดังที่เคยปักธงชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคภูมิใจไทยที่ปลายด้ามขวานมาแล้วเมื่อปี 54 คราวนี้สวมเสื้อพรรคประชาชาติ จับสลากได้หมายเลข 6 กับ นายอันวาร์ สะมาแอ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 4 นักการเมืองรากหญ้าที่ชาวบ้านชื่นชอบขณะที่ปัตตานีเขต 1 พรรคใหญ่ส่งผู้สมัครลงเบียดกัน ทำให้ อดีต สจ.มูฮำหมัดปาเรซ โลหะสัณห์ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 9 ต้องเจอกับ นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีตัวสอดแทรกสำคัญคือ อาจารย์วรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี และอดีตผู้บริหารระดับสูง ม.อ.ปัตตานี ที่สวมเสื้อพรรคประชาชาติลงสู้ศึก แถมยังเอาฤกษ์เอาชัยจับสลากได้หมายเลข 1 ไปครองด้วย

(คลิปข่าว) ชายแดนใต้คึก ผู้สมัครล้น เขตชนช้างอื้อ!

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ฮึดสู้ส่ง นายอัสมาน โต๊ะมีนา หลานชายของ เด่น โต๊ะมีนา อดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงไปวัดพลัง ได้หมายเลข 11 นอกจากนั้นยังมี นายสนิท นาแว หมายเลข 7 จากพรรคชาติไทยพัฒนา ลงลุ้นอีกคนหนึ่งด้วย โดยทั้งหมดนาทีนี้คะแนนเสียงก้ำกึ่งกัน

สำหรับนราธิวาส นอกจาก กูเฮ็ง ยาวอหะซัน ตระกูล ส.ส.ผูกขาดที่คราวนี้ย้ายค่ายไปอยู่พรรคประชาชาติที่มีแนวโน้ม "นอนมา" ในอีก 3 เขตที่เหลือก็เป็นการฟาดฟันกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่า กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ "ลุงกำนัน" ว่าใครจะสายป่านยาวกว่ากัน

(คลิปข่าว) ชายแดนใต้คึก ผู้สมัครล้น เขตชนช้างอื้อ!

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างกระแสฮือฮาอย่างมากในพื้นที่ ก็คือการเปิดปราศรัยครั้งแรกในรอบหลายปีโดยไม่หวั่นกับสถานการณ์ไฟใต้ โดยพรรคการเมืองที่ประเดิมเปิดเวทีปราศรัยเป็นพรรคแรก ได้แก่ พรรคประชาชาติ ตั้งเวทีไปแล้ว 4 จุด ที่ปัตตานี 2 จุด นราธิวาส 2 จุด หนึ่งในนั้นคือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ไม่ใช่อำเภอเมืองด้วยซ้ำ แถมยังปราศรัยกันตอนค่ำๆ จนถึงตี 1 มีประชาชนไปรอฟังเวทีละหลายพันคน สร้างความคึกคักให้กับบรรยกาาศการเมืองในพื้นที่ไม่น้อย และในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ พรรคอนาคตใหม่จะเป็นพรรคที่ 2 ที่ลงไปเปิดเวทีปราศรัยที่ชายแดนใต้ด้วย
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าหลายสมัย ถึงนาทีนี้ยังเก็บอาการ ไม่เคลื่อนไหวอะไรชัดเจน ต้องรอดูว่าเมื่อถึงโค้งสุดท้าย ใครจะคว้าพุงปลาไปกิน

logoline