svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

มธ.ยัน ปรับปรุงตึกตู้ปลา ไม่มีทุจริต! ยึดประโยชน์นศ.เป็นหลัก

19 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้บริหารคณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มธ. ยันปรับปรุงตึกตู้ปลา ไม่มีทุจริต เป็นไปตามกฎกติกา ระบุเอกชนเข้ามาช่วยจัดการพื้นที่ชั้นล่าง เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาไม่ใช่พื้นที่ธุรกิจ ใช้งบของคณะเพียง 28 ล้านบาท เชื่อกรณีนี้ไม่มีผู้รับเงินรับทอง เตรียมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจประชาคม มธ. อีกครั้ง 25 กุมภาพันธ์นี้

จากกรณีกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จำนวนหนึ่งได้ออกมาคัดค้านการปรับปรุงตึกตู้ปลาของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ท่าพระจันทร์ เนื่องจากการรื้อถอนพื้นที่ส่วนสำนักงานในชั้น 1 ของ ตึกตู้ปลา ของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารให้ธนาคารไทยพาณิชย์และร้านกาแฟชื่อดังเข้ามาใช้พื้นที่ โดยไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียด

มธ.ยัน ปรับปรุงตึกตู้ปลา ไม่มีทุจริต! ยึดประโยชน์นศ.เป็นหลัก


เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีตึกตู้ปลาว่า การปรับปรุงตึกตู้ปลาที่ท่าพระจันทร์เป็นไปตามนโยบายของคณะ ในการสร้าง TBSStartup Ecosystems โดยจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ส่วนล่างของตึกให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพราะขณะนี้นักศึกษาต้องไปอาศัยทำงานในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านกาแฟนอกมหาวิทยาลัย หรือต้องทำตามระเบียง ริมทางเดิน เพราะไม่มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน ทั้งที่การเรียนรูปแบบใหม่ต้องให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ และตามแนวทางการสร้างผู้ประกอบการ การที่คณะได้ปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างตึกตู้ปลาในครั้งนี้จะเป็นการคืนพื้นที่ให้นักศึกษา ด้วยการสร้าง iLab และ iSpac เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันประมาณ 1,120 ตารางเมตร ให้นักศึกษาได้ใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
โดยการอนุมัติงบประมาณ และโครงการดังกล่าวที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาคมชาวธรรมศาสตร์ตลอดเวลา เพื่อทำความเข้าใจถึงการดำเนินการและชี้แจงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนการสอนสมัยใหม่ และเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา ได้ชี้แจงถึงกระบวนการในแต่ละขั้นตอน ใช้เวลากว่า 2 ปีถึงจะได้ข้อสรุปและดำเนินการ จะขอยึดตามประโยชน์ของนักศึกษา ผู้เรียน ผู้ที่จะเข้ามาอบรมกับคณะ และการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นหลัก
สำหรับการปรับปรุงพื้นที่ข้างล่างตึกตู้ปลานั้น จะปรับพื้นที่กว่า 800 ตร.ม. เป็นที่นั่ง 300 ที่นั่ง มีห้องประชุม 5 ห้องใหญ่ รองรับได้ห้องละ 12 คน และห้องประชุมย่อย 9 ห้องรองรับได้ห้องละ 6 คน มีพื้นที่กิจกรรมให้นักศึกษาได้ทำงานกลุ่ม หรือจะซ้อมพรีเซนต์ด้วยอุปกรณ์ที่ครบครัน และพื้นที่ติวหนังสือ อ่านหนังสือ โดยการใช้งานในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน หรือ 24 ชั่วโมง ภายใต้ระบบความปลอดภัยสแกนคนเข้าออก และมีกล้องวงจรปิดทุกตารางนิ้ว เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา ฉะนั้น พื้นที่ที่ปรับปรุงเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ทำกิจกรรมของนักศึกษา พื้นที่ทำธุรกิจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"ยืนยันว่าไม่มีการรับเงินรับทอง ไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกการปรับปรุงเปลี่ยนพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาเป็นหลัก มธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีกฎกติกา มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีผู้ทรงคุณวุฒิคณะนิติศาสตร์เป็นกรรมการตรวจสอบ การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่การขออนุมัติการปรับปรุงจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุด ทั้งในระดับคณะ และมหาวิทยาลัย 

มธ.ยัน ปรับปรุงตึกตู้ปลา ไม่มีทุจริต! ยึดประโยชน์นศ.เป็นหลัก


เมื่อได้รับอนุมัติก็มีการประชุมกับประชาคมมากกว่า 8 ครั้ง รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย การปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ อยากให้คิดไปในอนาคตสิ่งที่นักศึกษาเรียนในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอ ต้องมีเทคโนโลยีจากภายนอก และพันธมิตรที่มาช่วยปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างก็เพื่อเป็นพื้นที่ในการเอื้อต่อประโยชน์ของนักศึกษา อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของนักศึกษา" คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.กล่าว
สำหรับพันธมิตรโครงการนี้ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Too fast to sleep โดยทั้งสององค์กรเข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้กว่า 1,000 ตร.ม. โดยคณะให้ธนาคารไทยพาณิชย์เช่าพื้นที่ประมาณ 30 ตร.ม. เพื่อให้บริการนักศึกษาและบุคลากร และอีก 20 ตร.ม. สำหรับ Too fast to sleep เพื่อให้บริการธุรกิจธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีการดำเนินการในเรื่องเช่นนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14(10) ของ พ.ร.บ. มีข้อบังคับกำหนดวิธีดำเนินการชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ไม่มีประเด็นผิดกฎหมายใดๆ โดยเด็ดขาด
"อาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนมองเรื่องตึก เรื่องทรัพย์สินเป็นสำคัญ แต่ผู้บริหารเน้นการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่มากกว่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ทีมบริหารก็จะเดินหน้าทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป"  รศ.ดร.พิภพ กล่าว


รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า การจะดำเนินการใดๆ ของฝ่ายบริหาร เปิดให้ประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ เดือนกรกฎาคม 2561 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำเวิร์กช็อประดมสมองร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่พัฒนาแบบต่อเนื่อง จนลงตัวที่เวอร์ชั่น 8 ซึ่งมี 8 A หรือ 8 B เมื่อได้ข้อสรุป มีการนำแบบเข้าสู่ประชุมคณะกรรมการบริหารของคณะและคณะกรรมการประจำคณะที่เป็นบอร์ดใหญ่ของคณะเพื่อขออนุมัติ ก่อนส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ตั้งคณะกรรมการกำกับปรับปรุงพื้นที่เข้ามาดูแล ดังนั้น ทุกกระบวนการยืนยันในเรื่องของความโปร่งใสและถูกต้อง
"ที่เลือกดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนั้น เป็นการดำเนินการโดยคำนึงไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนของนักศึกษา ทั้งเรื่องของเสียง ฝุ่น การเข้าออกของรถที่ต้องขนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ พื้นที่ของคณะไม่ใช่พื้นที่พาณิชย์ แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมถ่ายทอดให้นักศึกษา ซึ่งพันธมิตรทั้ง 2 แห่งก็มีเจตนาที่ดี ทำประโยชน์เพื่อนักศึกษา" รศ.วิทยา กล่าว
ด้าน ผศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มธ. กล่าวว่า ที่ดินใน มธ.ท่าพระจันทร์ ถือเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่ากฎหมายอาจกำหนดให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ สามารถจัดการดูแลได้ ซึ่งใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 มาตรา 14 (10) ระบุว่าให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยและที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ เพราะฉะนั้น มธ.จึงสามารถใช้สอยพื้นที่ราชพัสุดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์ก่อนเป็นคราวๆ ไป ภายในกรอบการบริการต่อการศึกษาหรือเรื่องเกี่ยวเนื่อง เช่น เพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคลากร เป็นต้น                    
ทั้งนี้กรณีของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ที่ตกลงกับภาคเอกชนมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของคณะนั้นก็เป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย ผ่านการกลั่นกรองให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการจัดหารายได้และผลประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุของ มธ. แล้วตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2561
โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำหนังสือชี้แจงว่า ธนาคารและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมกันทางวิชาการเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งมีส่วนหนึ่งของโครงการเป็นการเปิดศูนย์ Business Center เพื่อให้ความรู้แก่เอสเอ็มอีในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ร่วมกับทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพื่อพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยร่วมกัน และเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมิได้มุ่งค้ากำไร โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรื้ออาคารดังกล่าวแต่อย่างใด
เนื่องจากได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นตามที่ปรากฏเป็นข่าว และทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจเจตนารมณ์ของธนาคารคลาดเคลื่อนไป ธนาคารจึงได้ยื่นจดหมายขอชะลอโครงการนี้ไปก่อน จนกว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ข้อยุติในเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ และจะขอพิจารณาในเรื่องความร่วมมือดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อมีข้อสรุปจากทางมหาวิทยาลัยแล้ว

logoline