svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

Nan Sandbox โมเดลคนอยู่กับป่าที่จับต้องได้

09 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากปัญหาบุกรุกทำลายป่าจังหวัดน่านจนทำให้ป่าจังหวัดน่านขึ้นชื่อว่า เป็นเขาหัวโล้นให้เห็นอย่างเด่นชัด จนทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดทำโครงการ Nan Sandbox ขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว รายละเอียดของโครงการนี้่จะเป็นอย่างไรติดตามกับรายงานนี้กับชุตินันท์ เพชรากานต์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจังหวัดน่านประสบปัญหาถูกบุกรุกทำลายป่าจนมีลักษณะเป็นเขาหัวโล้นให้เห็นอย่างเด่นชัด จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าพื้นที่ป่าถูกบุกรุกไปประมาณ 28% สาเหตุที่พื้นที่ป่าหายไป เกิดจากจังหวัดน่านมีพื้นที่ทำกินเพียงประมาณ 10% ส่งผลให้มีการบุกรุกในลักษณะ ตัดไม้ เผาป่า เพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเป็นที่อยู่อาศัยและเมื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไม่สามารถให้รายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม เพื่อขยายพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม เพราะเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นคือป่าหายไปเป็นจำนวนมาก

Nan Sandbox โมเดลคนอยู่กับป่าที่จับต้องได้


จากปัญหาเหล่านี้จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดทำโครงการ Nan Sandbox โดยการใช้สูตร 72% 18% 10% หรือการจัดสรรที่ดินป่าในจังหวัดน่านหลังการปฏิรูป คือ 72% ของพื้นที่จะต้องคงความเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่ และ 18% ของพื้นที่จะต้องกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ หมายความว่าประชาชนสามารถทำมาหากินในพื้นที่ได้ ส่วนอีก 10% ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บอกถึงความคืบหน้าของโครงการ Nan Sandbox ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่า ตอนนี้มีการเจรจาทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน 99 ตำบล จนได้เป็น "คู่มือผู้นำชุมชน" ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ภาคประชาชนร่วมทำงานแก้ไขปัญหาป่าน่านกับภาครัฐ และภาคเอกชนส่วนตัวเลข 72% 18% 10% อยู่ในวิสัยที่ทำได้ 28% การจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่าน ประชาชนจะมีสิทธิที่ดินทำกินถูกกฎหมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งรัฐกับประชาชนคุยกันได้จนสามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น คือ การจัดสรรพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาป่าต้นน้ำทั้งจังหวัด

สำหรับการดำเนินงานปี 2562 จะมีการหาเงินทุนสนับสนุน ผ่าน 'มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน' โดยงบประมาณทั้งหมดจะนำมาใช้เพื่อให้เกษตรกรหยุดตัดป่า ชะลอการปลูกข้าวโพด เตรียมพืชทางเลือก ที่สำคัญคือการนำพาชุมชนทั้งจังหวัดสู่การทำมาหากินในระดับที่สูงขึ้น

ด้านตัวแทนผู้นำชุมชน อ.ภูเพียง จ.น่าน บอกถึงข้อกังวลสำหรับโครงการ Nan Sandbox ว่า ส่วนใหญ่ประมาณ 90 ตำบลเห็นด้วยแต่ยังมีอีกประมาณ 9 ตำบลยังกังวลเรื่องสิทธิในการทำกิน การใช้ที่ดิน และยังไม่มีความเชื่อมั่นเพราะพื้นที่ของตนเองอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีกฎหมายเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นยังถือว่านี้คือความท้าทายของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่เหลือเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองจะได้รับสิทธิในการทำกินบนที่ดินของตนเอง รวมไปถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคีสำคัญ ภายใต้กติกาเดียวกัน เป็นพันธะสัญญากับประชาชนให้มีความมั่นใจในสิทธิการใช้ที่ดิน และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

logoline