svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.สามารถ" ถาม ต่อสัญญาทางด่วน 37 ปี เพื่อใคร?

30 มกราคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte" ในประเด็น จับตา! ต่อสัญญาทางด่วน 37 ปี เพื่อใคร?


โดยข้อความ ระบุว่า
จับตา!ต่อสัญญาทางด่วน 37 ปีเพื่อใคร?
เป็นข่าวที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งเมื่อคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด กทพ.มีมติเห็นชอบให้ กทพ.ต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานออกไปเป็นเวลา 37 ปี ในขณะที่สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563กทพ.สร้างทางด่วนขึ้นมาหลายสายตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะทาง 224 กิโลเมตร การลงทุนก่อสร้างทางด่วนบางสายเป็นการลงทุนโดย กทพ. และบางสายเป็นการร่วมทุนกับเอกชนเพื่อลดภาระทางเงินของ กทพ.หรือของรัฐ ทางด่วนที่ลงทุนโดย กทพ.ทั้งหมด 100% ประกอบด้วยทางด่วนสายแรกคือทางด่วนขั้นที่ 1 (ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ) และทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทรา รวมทั้งส่วนต่อขยาย ส่วนทางด่วนที่ร่วมลงทุนกับเอกชนหรือบีอีเอ็มประกอบด้วยทางด่วนสายที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ซึ่ง กทพ.ร่วมลงทุนกับบริษัทลูกของบีอีเอ็ม
การร่วมลงทุนกับบีอีเอ็มในทางด่วนหลายสายทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับบีอีเอ็มหลายคดี ซึ่งประกอบด้วยคดีที่ศาลตัดสินแล้ว คดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน และคดีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการของศาลหรือยังไม่มีการฟ้องร้อง คดีที่ศาลตัดสินแล้วคือคดีทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน โดยศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทพ.จ่ายเงินชดเชยให้บริษัทลูกของบีอีเอ็มจำนวน 4,318.4 ล้านบาท เนื่องจากมีการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตมาเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ส่วนคดีอื่นที่เหลือซึ่งศาลยังไม่ได้ตัดสินหรือยังไม่มีการฟ้องร้องเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าทางด่วน ซึ่งบีอีเอ็มเห็นว่า กทพ.ขึ้นค่าทางด่วนต่ำกว่าอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ กทพ.เห็นว่าถูกต้องตามสัญญาแล้ว

"ดร.สามารถ" ถาม ต่อสัญญาทางด่วน 37 ปี เพื่อใคร?


ในส่วนของคดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินและคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการตามผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งบอร์ด กทพ.อ้างว่าที่ปรึกษาของ กทพ.ได้ประเมินค่าชดเชยที่ กทพ.จะต้องจ่ายให้บีอีเอ็มในกรณีที่ กทพ.แพ้ทุกคดีเป็นเงินจำนวน 137,515.6 ล้านบาท เงินจำนวนมากขนาดนี้ คณะอนุกรรมการฯ คงเห็นว่าคงเป็นภาระหนักของ กทพ.ที่จะจ่ายให้บีอีเอ็ม จึงเจรจาต่อรองต่อสัญญาสัมปทานให้บีอีเอ็มเป็นเวลา 37 ปี จนถึงปี พ.ศ.2600 พร้อมกับให้บีอีเอ็มสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 จะทำให้มีทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 14 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่มีรถติดบนทางด่วนมาก วงเงิน 31,500 ล้านบาท ผลการเจรจาของคณะอนุกรรมการฯ ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561
คำถามที่เกิดขึ้นมีดังนี้
1. ค่าชดเชยจำนวน 137,515.6 ล้านบาท ที่ กทพ.จะต้องจ่ายให้บีอีเอ็มนั้นประเมินมาได้อย่างไร และใครเป็นผู้ประเมิน เพราะในขณะนั้น กทพ.ยังไม่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา
2. เหตุใดบอร์ด กทพ.จึงยินยอมที่จะจ่ายค่าชดเชยให้บีอีเอ็มเป็นเงินจำนวนมากถึง 137,515.6 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ หลายคดีศาลยังไม่ได้ตัดสินและ/หรือยังไม่มีการฟ้องร้อง
3. เหตุใดบอร์ด กทพ. จึงเห็นชอบให้ต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นเวลานานถึง 37 ปี และในช่วงระยะเวลา 37 ปี ซึ่งปริมาณรถบนทางด่วนจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี บีอีเอ็มจะมีรายได้จากค่าผ่านทางเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าชดเชย 137,515.6 ล้านบาท รวมกับเงินลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 14 กิโลเมตร วงเงิน 31,500 ล้านบาท ที่บีอีเอ็มจะสร้างให้ กทพ.ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ ผมขอเสนอแนะดังนี้
1. ขอให้บอร์ด กทพ.พิจารณาทบทวนการต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นระยะเวลา 37 ปี
2. ขอให้บอร์ด กทพ.พิจารณาให้ กทพ.ดำเนินการบริหารทางด่วนสายที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเอง ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าผ่านทางลงได้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางด่วน
ถ้าบอร์ด กทพ.ทำได้ตามข้อเสนอแนะดังกล่าว จะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนใช้ทางด่วน หรือประเทศชาติโดยส่วนรวม

logoline