svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561

18 มกราคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ทั้งคุณภาพน้ำ และคุณภาพน้ำทะเลทั่วประเทศ ประจำปี 2561 ดังนี้

คุณภาพน้ำ 59 แม่น้ำสายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 45 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 12 ไม่มีแหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก (ตั้งแต่ปี 2552) แหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น ภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น ทั้งนี้ ภาพรวมในรอบ 10 ปี (ปี 2552-2561) คุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้
5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในปี 2561 ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน อูน แควน้อย ลำชี สงคราม และ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลำตะคองตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ท่าจีนตอนกลาง

สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561


คุณภาพน้ำทะเล อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 1 เกณฑ์ดี ร้อยละ 58 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 35 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 5 และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 1 ชายหาดเกาะม้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และทะเลแหวก จังหวัดกระบี่ มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด บริเวณอ่าวไทยตอนใน ปากแม่น้ำสายหลัก ยังคงเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักที่คุณภาพน้ำและน้ำทะเลเสื่อมโทรม เนื่องจากระบบการจัดการน้ำเสียชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียทั้งหมดมาบำบัด มีการระบายน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและปริมาณของเสียเกินศักยภาพการรองรับของแหล่งน้ำ
การจัดการคุณภาพน้ำในอนาคต ลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด พิจารณาขีดความสามารถในการรองรับมลพิษของแหล่งน้ำ (Carrying Capacity) ประยุกต์ใช้ระบบอนุญาตการระบายมลพิษ (Permit System) และหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) สนับสนุนและสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการน้ำเสีย ปลูกจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ให้ทิ้งขยะและน้ำเสียลงแหล่งน้ำ
คุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไป ภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติทั่วประเทศ 33 จังหวัด (63 สถานี) พบจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 20 จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก สระบุรี สงขลา และที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย นนทบุรี ปทุมธานี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล ยะลา นราธิวาส พารามิเตอร์ที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง PM2.5 ก๊าซโอโซน และฝุ่นละออง PM10
คุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤต
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดขึ้นช่วงปลายปี (เดือนธันวาคม) ต่อมาถึงช่วงต้นปี (เดือนมกราคม มีนาคม) ของทุกปี เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ แหล่งกำเนิดมลพิษหลักมาจากยานพาหนะ การจราจรที่หนาแน่น การเผาในที่โล่ง ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ลักษณะอากาศจมตัว ลมสงบ
9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดลงจากปี 2559 และปี 2560 จาก 61 วัน และ 38 วัน เป็น 34 วัน (ลดลงร้อยละ 44 และ 11) จุดความร้อนสะสมมีค่าลดลงจากปี 2559 และปี 2560 จาก 10,133 จุด และ 5,418 จุด เป็น 4,722 จุด (ลดลงร้อยละ 53 และ 13) สถานการณ์ดีขึ้นมาก

สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561


ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 165 วัน จากการตรวจวัด 362 วัน (ร้อยละ 46) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27 ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 27 - 303 มคก./ลบ.ม. สาเหตุเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองหินในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง การจราจร การบรรทุกขนส่ง ถนนชำรุด
พื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง สารเบนซีน และ 1,3บิวทาไดอีน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ขณะที่ 1,2-ไดคลอโรอีเทน ลดลงแต่ยังคงเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ สาเหตุเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเคมีที่มีการใช้/ผลิตสารดังกล่าว การจัดการคุณภาพอากาศในอนาคต กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศในรูปอัตราการระบาย (Loading) ขีดความสามารถการรองรับการระบายมลพิษของพื้นที่ (Carrying Capacity) ให้มีระบบการอนุญาตการระบายมลพิษ (Emission Permit) ยกระดับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร กำหนดระยะเวลาการตรวจสภาพรถยนต์ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ ขยะมูลฝอย เกิดขึ้นประมาณ 27.82 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64) เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ประชากรและประชากรแฝงแรงงานเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) กำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27) ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์แค่ 0.5 ล้านตัน ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการ "ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม" เพื่อลดและคัดแยกขยะในหน่วยงานภาครัฐ งดใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม และแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) ของเสียอันตรายจากชุมชน เกิดขึ้น 638,000 ตัน ร้อยละ 65 เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 414,600 ตัน และร้อยละ 35 เป็นอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ 223,400 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 83,600 ตัน (ร้อยละ 13) แต่ยังไม่เพียงพอ ยังไม่มีกฎระเบียบที่จะคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไปและกฎหมายกำกับดูแลให้ภาคเอกชนรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กากของเสียอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบการจัดการ 22.02 ล้านตัน เป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย 20.82 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.2 ล้านตัน ปี 2561 มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อนำมาคัดแยก ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับชาติ โดยให้ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี (ปี 2562 2563) ยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นรายการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบให้นำเข้าตามความจำเป็น 
มูลฝอยติดเชื้อ เกิดขึ้น 55,497 ตัน ร้อยละ 50 มาจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และร้อยละ 24 มาจากโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 49,898 ตัน (ร้อยละ 90)
การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชนในอนาคต จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2562-2570) โดยให้ลด เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมสารประเภทอ็อกโซ่ ไมโครบีดจากพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา <36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียว) ขนาดความหนา <300 ไมครอน หลอดพลาสติก ปรับปรุงแก้ไขสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง เข้มงวดในการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ

logoline