svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวทุ่งสงลั่น ไม่ย้ายหมู่บ้านสร้างเขื่อนวังหีบ วอนกรมชลฯ หยุดอ้างโครงการในพระราชดำริ

25 ธันวาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา อนุมัติสร้างเขื่อนวังหีบ นับว่าเหนือความคาดหมายของประชาชนในพื้นที่ ที่คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างเขื่อนดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แล้ว ยังจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลกับธรรมชาติที่สวยงามในพื้นที่

ชาวบ้าน ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ยืนยันหนักแน่นว่าจะคัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบ อย่างถึงที่สุด พร้อมยื่นคำขาดว่า ต้องยุติโครงการดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไข มีการออกแถลงการณ์ระบุ 

"พวกเราประชาชนคนวังหีบ อยู่อาศัย และทำกินในผืนแผ่นดินแห่งนี้มานานร่วมร้อยปี รกราก เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณของเราฝังลึกอยู่ในผืนดินแห่งนี้จนเป็นเนื้อเดียวกัน เราจึงไม่เคยคิดที่จะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเราออกไปอยู่ที่อื่น เพราะที่นี่คือบ้านของเรา

การที่รัฐบาลพยายามที่จะยึดคืนพื้นที่อันเป็นบ้านของเราเพื่อนำไปสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำโดยอ้างถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อการเกษตร เป็นแหล่งท่องเที่ยว และอื่นๆตามที่ใช้กล่าวอ้างเป็นเหตุผลที่กรมชลประทานใช้กับทุกพื้นที่การสร้างเขื่อนของประเทศ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถยอมรับได้"
ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมต่างออกมาเสนอความเห็นแย้งแล้วว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำ เพราะในหลายพื้นที่ที่มีเขื่อนอยู่แล้วก็ยังต้องประสบกับปัญหานี้ในทุกฤดูกาล 

ส่วนการอ้างถึงแหล่งท่องเที่ยวยิ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะบ้านวังหีบแห่งนี้มีสายและมีธารน้ำตกที่สวยงาม และยังเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวิภาพที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช และของประเทศ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้ดีกว่าการนำไปสร้างเขื่อน และที่มากไปกว่านั้นคือบริเวณที่จะมีการเวนคืน และยึดคืนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจากประชาชนเกือบหนึ่งร้อยครัวเรือนนี้ คือการล่มสลายของชุมชนชนบทอีกแห่งหนึ่งที่พวกเราไม่สามารถทำใจยอมรับได้

ดังนั้น การที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการปิดหูปิดตาไม่รับฟังเหตุผล และข้อเรียกร้องของประชาชนตามที่ได้พยายามนำเสนออย่างมีเหตุผลตามขั้นตอนของระบบการเมืองการปกครองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา 

ในขณะที่การดำเนินการในพื้นที่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในชุมชนบ้านวังหีบอย่างผิดปกติ 

ล่าสุดยังมีการโปรยใบปลิวของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการออกมากล่าวร้ายกับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการ ทั้งยังอ้างถึงสถาบันเบื้องสูงอย่างไม่เหมาะสม เพียงหวังจะปิดกั้นการแสดงออกของพวกเราในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ต้องการออกมาสื่อสารกับสังคม และสาธารณะเพื่อให้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความไม่ชอบธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเรา

"ในนามของกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำวังหีบ ที่ได้รวมตัวกันเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม และการดำรงชีวิตบนแผ่นดิน ผืนป่า และสายน้ำแห่งนี้มาอย่างสุขสงบเรียบง่ายตั้งแต่บรรพบุรุษ เราขอประกาศว่าพวกเราจะยืนหยัดอยู่อาศัยในที่แห่งนี้โดยจะไม่ยอมอพยพโยกย้ายไปไหน" 

กรมชลประทาน ย้ำทำตามระเบียบและ กฎหมาย ดันเขื่อนวังหีบ 

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เสริมชัย เซียวศิริถาวร  บอกว่า  ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์หลักของโครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อนว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำ สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ทุ่งสง พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 13,014 ไร่ ครอบคลุม 24 หมู่บ้าน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาหลวงเสน ตำบลหนองหงส์ ตำบลควนกรด และตำบลนาไม้ไผ่ ประมาณ 12,821 ครัวเรือน 

นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์เพื่อรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค และส่งน้ำดิบเพื่อการประปาได้อีกด้วย  สำหรับกรณีของการบรรเทาอุทกภัยในเขต อ.ทุ่งสง นั้น ขอชี้แจงว่า กรมชลประทาน ได้มีการศึกษาแผนหลักโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองทุ่งสงไว้แล้ว ซึ่งจะได้เร่งรัดโครงการฯและเตรียมความพร้อมก่อนการก่อสร้างต่อไป

ส่วนกรณีพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนวังหีบ อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ และเป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นั้น ขอชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 กำหนดไว้ว่า "กรณีจำเป็นที่ต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายงาน EIA เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาก่อนเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง" ซึ่งกรมชลประทานได้มีการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว 
"โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช ต้องนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เนื่องจากโครงการฯ ได้ผ่านการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบของทางราชการกำหนดไว้แล้ว หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่นำเรื่องดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม ครม. ทั้งที่โครงการฯได้ผ่านการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เช่นการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การรับฟังความเห็นประชาชน และการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจมีความผิดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำโครงการฯดังกล่าว ยังมีสิทธิร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เนื่องจากผ่านความเห็นชอบของ ครม.มาแล้ว ไม่ต้องเริ่มฟ้องที่ศาลปกครองชั้นต้น" 

"ปราโมทย์" วอนกรมชลฯ หยุดอ้างโครงการในพระราชดำริ ดันเขื่อนวังหีบ 



รายการวิทยุของมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  เมื่อวันที่  22 ธันวาคม 2561 อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ปราโมทย์ ไม้กลัด บอกว่า การชูประเด็นโครงการพระราชดำริ แล้วไม่ฟังเสียงใดๆ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐเข้าใจผิด จริงๆ แล้วโครงการเหล่านี้ เป็นโครงการที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้เก่าแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2520 เศษๆ 

โครงการตามแนวคิดนี้ ต้องนำไปศึกษาให้สอดคล้อง โดยเฉพาะภูมิสังคม คือศึกษาภูมิประเทศ สังคมผู้คน และสิ่งแวดล้อม แต่ยุคปัจจุบันนั้นประหลาด อย่าให้พูดมาก โครงการเขื่อนวังหีบไม่ได้กระทบต่อปริมาณน้ำใน อ.ทุ่งสง เพราะสายน้ำไม่ได้ไหลไปด้านนั้น แต่น้ำไปคนละทิศ แต่ผู้สนับสนุนโครงการกลับบอกว่าป้องกันอุทกภัย 

จากข้อมูลที่มีการศึกษาพบว่า เขื่อนมีความจุน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กระจิ๋ว เล็ก ไม่คณาเรื่องการป้องกันอุทกภัย มูลค่าการลงทุน 2,300 กว่าล้านบาท สันเขื่อนมีความสูง 70 เมตร เท่ากับว่าน้ำ 1 ล้านลบ.ม. ต้องลงทุนเป็นเงินสูงถึง 200 กว่าล้านบาท 

"ผมไม่เคยเจอไม่เคยทำมา มันมโหฬาร ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลก็คลุมเครือ เป็นการปั้นตัวเลข ที่ระบุว่าช่วยพื้นที่เพาะปลูกกว่าหมื่นไร่ จริงๆ แล้วพื้นที่ย่านนั้นไม่ใช่นา แต่เป็นพื้นที่สวนยาง ที่สำคัญคือท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ผู้คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการบอกกล่าว ซึ่ง ร.9 รับสั่งว่าจะทำอะไรต้องให้คนในพื้นที่ตกลงด้วย แบบนี้บกพร่อง ซึ่งกรมชลประทานใช้การประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่รับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ คนในพื้นที่รู้เรื่องน้อย ครม.นำเอาเรื่องนี้เข้าไปที่ประชุมอย่างไรผมไม่ทราบ ผมประชุมวันพุธ แต่มีมติครม.ตั้งแต่วันอังคาร เป็นปัญหาที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ต้องเป็นประชาพิจารณ์ นี่เป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์ว่าดีอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านได้อย่างไร ผู้บริหารจังหวัดบอกว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ไม่ถูกต้อง" 

ชาวเน็ตเผยภาพสวยงาม "วังหีบ ป่าที่ยังเป็นป่า"

ผู้ใช้เฟสบุ๊ค ชื่อ Priwan Den ระบุ ไม่น่าเชื่อว่าป่าทางใต้จะมีป่าที่สมบูรณ์ อยู่รอดจากการทำไม้มาได้จนถึงปัจจุบัน ต้นไม้สูงใหญ่ แผ่เรือนยอดปกคลุมด้านบน เสมือนโครงสร้าง รากฐานที่มั่นคง ให้ไม้ชั้นลองลงมาได้พึ่งพิง อิงอาศัย สมดุลด้วยความเป็นป่า เอื้อประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ได้อยู่อาศัย รวมทั้งผู้คนได้ใช้ประโยชน์ จากสายน้ำ ได้ใช้ดื่มกิน ได้ใช้เพาะปลูก น่าเสียดายถ้าป่าสมบูรณ์แบบนี้จะถูกลำลาย หรือเกิดการแปลงสภาพไปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องรักษา ต้องเก็บไว้ ไม่ควรจะต้องเสียพื้นที่ป่าอีกแล้ว เราเสียป่ามามากเกินพอแล้ว

logoline