svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

7 คำขอรับสิทธิบัตรกัญชาที่เหลือยกทิ้งได้ทันทีหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่ตามกม.อย่างเคร่งครัด

23 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นที่ 1 ฐานข้อมูลสิทธิบัตร 0.4 คำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาและการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค เท่าที่นักวิชาการที่ทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาสามารถค้นพบได้มี 12 คำขอ ขณะเดียวกันจากข้อมูลของการแถลงข่าวของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ระบุว่ามีมากถึง 31 คำขอ และยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในจำนวนคำขอที่แตกต่างกันไป เช่น บทความของบริษัท Tilleke & Gibbins ระบุว่ามีคำ 39 คำขอที่ประกาศโฆษณาแล้วและอยู่ระหว่างตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แสดงให้เห็นว่าฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญามีปัญหาในการสืบค้น ทำให้ได้ข้อมูลจำนวนคำขอที่แตกต่างกันและไม่ครบถ้วนทั้งหมดได้

ประเด็นที่ 2 การละเลยกฎหมาย ไม่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัดจากคำแถลงของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายทศพล อังสุบุตร วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 แถลงว่า คำขอที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนไม่สามารถยกคำขอได้ระหว่างการพิจารณา ซึ่งทีมวิชาการและภาคประชาสังคมได้ออกมาโต้แย้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกคำขอได้ก่อนประกาศโฆษณาตาม พรบ.สิทธิบัตรมาตรา 28 และหลังประกาศโฆษณาตามมาตรา 30


7 คำขอรับสิทธิบัตรกัญชาที่เหลือยกทิ้งได้ทันทีหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่ตามกม.อย่างเคร่งครัด




ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงว่า มีการยกคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1101003758 ชื่อการประดิษฐ์ "การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู" โดยใช้มาตรา 30 ว่าผิดมาตรา 9(1) เพราะไม่สามารถขอสารสกัดจากธรรมชาติได้ นี่แสดงให้เห็นว่าคำขอที่ประกาศโฆษณาแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกคำขอนี้ทิ้งไปได้ อย่างไรก็ตามคำขอดังกล่าว มีชื่อการประดิษฐ์คือ การใช้สารในการรักษาโรค ซึ่งผิดทั้งมาตรา 9(1) เรื่องสารสกัด และ มาตรา 9(4) ที่มิให้จดสิทธิบัตรการวินิจฉัย บำบัด และรักษาโรค ดังนั้นทั้งสองเหตุผลนี้ควรระบุอยู่ในเหตุผลของการยกคำขอ แต่การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ใช้เหตุผลของมาตรา 9(4) ในการยกคำขอ ทำให้คำขอที่มีลักษณะเดียวกันมิได้ถูกยกคำขอทิ้งไปพร้อมกัน ไม่ต่ำกว่า 6 คำขอ ตัวอย่างเช่น 



-คำขอเลขที่ 0801006631 "การใช้แคนนาบินอยด์ร่วมกับยาต้านโรคจิตสำหรับการป้องกันหรือบำบัดโรคจิต" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด 



-คำขอเลขที่ 0901002471 "ผลในการต่อต้านเนื้องอกของสารผสมแคนนาบินอยด์" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด


7 คำขอรับสิทธิบัตรกัญชาที่เหลือยกทิ้งได้ทันทีหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่ตามกม.อย่างเคร่งครัด




-คำขอเลขที่ 1201004672 "ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด


-คำขอเลขที่ 1201005115 "การใช้งานของไฟโตแคนนาบินอยด์แคนนาบิดิวาริน (CBDV) ในการรักษาของโรคลมบ้าหมู" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด 


-คำขอเลขที่ 1301003751 "การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์แคนนาบิไดออล (CBD) รวมกับยาต้านโรคลมชัก แบบมาตรฐาน (SAED) ในการรักษาโรคลมชัก" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด


ในขณะเดียวกันมีคำขอในลักษณะเดียวกับคำขอข้างต้นและได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถปฏิเสธคำขอนี้ได้เลย เนื่องจากขัดกับมาตรา 9 ทั้ง (1) และ (4) ได้แก่ คำขอเลขที่ 1401001619 "องค์ประกอบทางเภสัชกรรมที่ประกอบรวมถึงไฟโตแคนนาบินอยด์ แคนนาบิดิวาริน (CBDV) และแคนนาบิไดออล (CBD)" ของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ด และ โอซึกะฟาร์มาคิวติคอลคอมปะนีลิมิเต็ด แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่ได้ดำเนินการและยังให้ข้อมูลที่ไม่ครบ และบางส่วนไม่ถูกต้องกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนทำให้สมาชิก สนช. บางคนเข้าใจว่าคำขอสิทธิบัตรกัญชาบางคำขอสมควรได้รับสิทธิบัตร และยังกีดกัน สนช. จากการรับฟังข้อมูลวิชาการข้อเท็จจริงที่รอบด้าน



เมื่อกระทรวงพาณิชย์และกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ดำเนินการข้างต้น ทำให้คำขออย่างน้อย 5 ฉบับนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบทำให้ผู้ยื่นคำขอสามารถยื่นหนังสือ (notice) เพื่อข่มขู่บริษัทหน่วยงานต่างๆ ที่กำลังทำวิจัยและกำลังจะออกผลิตภัณฑ์หลังจากที่มีการปลดล็อกการใช้กัญชาทางการแพทย์ว่า ตนเองนั้นกำลังยื่นขอสิทธิบัตรและเมื่อไหร่ที่ได้สิทธิบัตรจะฟ้องร้องค่าเสียหายย้อนหลังกลับไปถึงวันที่ยื่นขอสิทธิบัตร ทำให้บริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถเดินหน้าผลิตยาเพื่อผู้ป่วยได้ ในกรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย นอกจากผู้ขอสิทธิบัตรจะมีการยื่น notice ต่อบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ยังส่ง notice ไปยังหน่วยงานจัดซื้อยาเช่น โรงพยาบาลต่างๆ โดยข่มขู่ว่าหากซื้อยาชื่อสามัญที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรกำลังยื่นขอรับสิทธิบัตรอยู่ เมื่อเขาได้รับสิทธิบัตรแล้วจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายไปด้วย ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่กล้าจัดซื้อยาชื่อสามัญ แม้ว่าในที่สุดคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ อาจจะถูกยกคำในที่สุด แต่ทั้ง ผู้ประกอบการ สังคมและผู้ป่วย ได้รับผลกระทบไปแล้วจากสิทธิชั่วคราว ดังนั้นการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาละเลยกฎหมาย ไม่ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัดตั้งแต่เริ่มต้น จึงส่งผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนานวัตกรรม และการเข้าถึงยาของผู้ป่วย


ประเด็นที่ 3 คู่มือของกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้อนแย้งกับ พรบ.สิทธิบัตรของไทย ในคู่มือการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2555 หน้าที่ 28 ระบุว่าสารสกัดจากสัตว์หรือพืชที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการปรับแปรในสาระสำคัญใดโดยมนุษย์ จะไม่สามารถยื่นคำขอสิทธิบัตรได้ตามมาตรา 9(1) หมายความว่า การทำให้บริสุทธิ์ไม่ใช่เป็นกระบวนการปรับแปรสาระสำคัญของสารในธรรมชาติ เพราะไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของสารนั้น 


แต่ในคู่มือฉบับเดียวกันหน้า 30 กลับระบุว่า "ผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ USPTO EPO และ JPO ไม่ได้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือการค้นพบเพราะว่าสารเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติในรูปลักษณะที่บริสุทธิ์ สารจุลชีพที่ถูกแยกออกมาจากธรรมชาติ อาจขอรับสิทธิบัตรได้ ถ้าคุณสมบัติที่สำคัญและคุณลักษณะที่สำคัญของสารที่ถูกแยกออกมานี้ไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับที่แสดงไว้ในธรรมชาติ" ซึ่งข้อความเหล่านี้มีความขัดแย้งกับพรบ.สิทธิบัตร มาตรา 9(1) และขัดกับข้อความในหน้าที่ 28 เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสารสกัดสามารถจดสิทธิบัตรได้



เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น ไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 9(1) ดังกฎหมายของไทย อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศจะให้ระดับความคุ้มครองเข้มงวดไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก ที่จะต้องให้ความคุ้มครองขั้นต่ำ ซึ่งกฎหมายไทยปฏิบัติตามแล้วทั้งหมด 



อีกทั้งคำขอรับสิทธิบัตรที่เข้าระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT ซึ่งเป็นระบบการอำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับสิทธิบัตรหลายประเทศในคราวเดียวกัน แต่การพิจารณาให้สิทธิบัตรขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของกฎหมายแต่ละประเทศ ดังนั้นการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปให้ข้อมูล สนช. จนเข้าใจผิดว่า ทุกคำขอที่ผ่านระบบ PCT ไม่สามารถยกคำขอทิ้งได้ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนประเด็นที่ 4 สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Evergreening patent)


จากฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่าทางกรมฯ ได้ปฏิเสธคำขอเลขที่ 0601002456 "ส่วนผสมเชิงเภสัชกรรมที่ออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์สำหรับรูปแบบขนาดยาที่ถูกปรับปรุง" ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมกับการทำหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคำขอดังกล่าวเป็นคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น (evergreening) เป็นเพียงการผสมสารออกฤทธิ์เท่านั้นตามคู่มือที่ได้ร่วมพัฒนาในส่วนของการพิจารณาขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นของสิ่งประดิษฐ์ทางเคมี 



อย่างไรก็ตามยังมีคำขอสิทธิบัตรกัญชาในลักษณะ evergreening อยู่อีก อาทิ คำขอเลขที่ 0301001207 "สูตรผสมแคนนาบินอยด์ตามธรรมชาติที่ถูกทำให้เสถียนแล้ว" ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และคำขอเลขที่ 0901002472 "สารผสมรวมแคนแนบินอยด์กับสารเคมีบำบัดชนิดนัน-แคนแนบินอยด์ โดยเฉพาะกรณีคำขอหลัง ผู้ขอได้ละทิ้งคำขอสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณา ซึ่งเชื่อว่าผู้ขอตระหนักดีว่าคำขอลักษณะนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ดังนั้นแม้ว่ากรมฯจะไม่สามารถล้างไพ่คำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาได้ทั้งหมดตามที่ได้แจ้งต่อ สนช แต่กรมสามารถทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พิจารณาให้สิทธิบัตรอย่างรอบคอบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อแผ่นดิน



ข้อเรียกร้องต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์


1.ทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พิจารณาคำขอทั้งการตรวจสอบเบื้องต้นและก่อนการตรวจสอบการประดิษฐ์ หากมีคำขอใดที่ขัดกับกฎหมายให้ยกคำขอทันที


2.แก้ไขคู่มือการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรในส่วนที่ 1 การตรวจสอบเบื้องต้นของคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยเฉพาะตัวอย่างประกอบคำอธิบายการตรวจสอบตามมาตรา 9 หากไม่มีการแก้ไข ทางทีมวิชาการจะร่วมมือกับฝ่ายกฎหมายในการดำเนินการขั้นตอนไป



3.ให้ความร่วมมือกับคณะวิชาการที่เป็นกลางในการประเมินการใช้คู่มือการตรวจสอบคำขอฯ ที่ใช้มานานกว่า 5 ปี ว่าได้มีการนำมาใช้มากน้อยและมีประสิทธิภาพเพียงไร และสามารถลดหรือป้องกันปัญหาการผูกขาดโดยผ่านสิทธิบัตรยาแบบ  evergreening ได้อย่างไร


4.ปรับปรุงให้ระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยให้มีรหัสแยกเฉพาะในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่มีรหัส A61K และให้ระบบฐานข้อมูลของกรมมีข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliography) ซึ่งเป็นข้อมูลยื่นขอสิทธิบัตรในต่างประเทศทันทีที่ผู้ขอฯ มายื่นคำขอฯ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการตรวจสอบโดยสาธารณะก่อนประกาศโฆษณา



5.อนุญาตให้คณะวิชาการที่เป็นกลางประเมินการขอรับสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT ที่ดำเนินการโดยกรมมากกว่า 10 ปี เพื่อดูคุณภาพการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ คณะวิชาการจะทำหนังสือขอความร่วมมือถึงกระทรวงพาณิชย์



แถลงการณ์ "สิทธิบัตรกัญชา: ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการให้สิทธิบัตรยาและข้อเสนอแนะ"โดยคณะนักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการเข้าถึงยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 23 พฤศจิกายน 2561



คณะนักวิจัยฯ ประกอบไปด้วย  รศ.ดร.ภญ.นุศราพร  เกษสมบูรณ์,  ผศ.ดร.ภญ.อุษาวดี  สุตะภักดิ์,  ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี, นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล, นางสาวกรรณิการ์  กิจติเวชกุลรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ กรรณิการ์ 0895003217

logoline