svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

ศาลฎีกาพิพากษา"ช่อง 8"ชดใช้แพนเค้ก 1 ล้าน

21 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลฎีกาพิพากษา"ช่อง 8"ชดใช้แพนเค้ก 1 ล้านฟ้อง"อาร์.เอส.เทเลวิชั่น"ช่อง 8 ละเมิดขอให้พูดใคร ๆ ก็ดูช่อง 8 ใช้โฆษณานานนับเดือน "3 ศาล" พิพากษายืนเป็นการละเมิดดารา

20 พฤศจิกายน 2561 จากกรณีที่ "น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์" หรือแพนเค้ก อายุ 30 ปี นักแสดงสาวชื่อดัง มีคดีพิพาททางแพ่ง กับ "บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด" ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ช่อง 8


ในเหตุละเมิดที่มีการนำภาพ-เสียงของ "แพนเค้ก" ที่เป็นนักแสดงละครโทรทัศน์และพิธีกรซึ่งมีสัญญากับบริษัทประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ได้พูดว่า "ใครๆ ก็ดูช่อง 8 " ตามคำขอผู้สื่อข่าวบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ไปขอสัมภาษณ์เพื่อออกข่าวบันเทิง ไปเผยแพร่ประโยชน์ทางการค้าติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือนนั้น


ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา "ศาลแพ่ง" ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ พ.2293/2558 ที่ "น.ส.เขมนิจ" หรือแพนเค้ก นักแสดงสาวชื่อดัง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด" เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 ในความผิดเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เป็นเงินจำนวน 5,104,794.52 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี


โดยเดิมคดีนี้ คำฟ้องของ "แพนเค้ก"ระบุว่า โจทก์ มีอาชีพเป็นนักแสดง และพิธีกร ตามสัญญากับ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี และยังรับจ้างถ่ายแบบโฆษณาสินค้า กับเดินแบบด้วย ส่วน จำเลยและบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ขณะที่เมื่อต้นปี 2558 โจทก์ ไปร่วมงานอีเว้นท์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีดารานักแสดงและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงขึ้นเวที


ซึ่งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนบันทึกภาพวิดีโอและเสียงสัมภาษณ์ ก็ปรากฏว่ามีนักข่าวของ บมจ.อาร์เอส ขอสัมภาษณ์โจทก์และขอให้พูดว่า "ใครๆก็ดูช่อง 8" โดยโจทก์เห็นว่าเมื่อผู้สื่อข่าวร้องขอให้พูดเพื่ออกข่าวเพียง 1-2 ครั้งไม่น่าจะมีปัญหากับต้นสังกัด ก็จึงพูดตามประโยคดังกล่าว แต่หลังจากนั้นได้นำภาพ-เสียงของโจทก์ไปตัดต่อออกอากาศเผยแพร่ทางช่อง 8 กับเว็บไซต์ยูทูบ นานตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค. 58 ติดต่อกันทุกวัน ซึ่งเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ของจำเลยเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการค้าฝ่ายเดียว


โดยผิดจากความเข้าใจและวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาว่า ออกเป็นข่าวบันเทิงเพียง 1-2 ครั้ง ภายหลังทราบเรื่องโจทก์ได้บอกกล่าวไปยัง บมจ.อาร์เอส ให้ยุติการนำภาพ-เสียงของโจทก์ไปเผยแพร่ทุกช่องทาง แต่บริษัทตอบกลับ ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิดรวมทั้งปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหาย


ขณะที่ฝ่าย "บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด" จำเลย ต่อสู้ว่า จำเลยกับ บมจ.อาร์เอส เป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิด ซึ่งการโจทก์พูดประโยคตามฟ้องนั้น เป็นความยินยอมของโจทก์เอง หากโจทก์คำนึงว่าประโยคดังกล่าวออาจมีผลกระทบต่อต้นสังกัดก็ย่อมไม่พูด ขณะที่นักข่าวขอให้โจทก์พูด โจทก์เข้าใจดีอยู่แล้วว่าจำเลยจะนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และเมื่อจำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้ยุติการเผยแพร่ จำเลยก็ยุติเผยแพร่ทุกช่องทาง ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องนั้น ถ้อยคำที่โจทก์พูดก็ไม่ได้ชี้ชัดเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนมารับชมรายการหรือละครทางช่อง 8 จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ


ขณะที่ชั้นพิจารณา ปรากฏว่า ครั้งแรก "ศาลแพ่ง" ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จริง จึงให้ชำระเงิน 1.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันถัดฟ้องที่ 26 พ.ค.58 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท


ต่อมา "บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด" จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่ง "ศาลอุทธรณ์" ก็พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 26 พ.ค.58 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น "จำเลย" จึงได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง


แต่เมื่อ "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่าการนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์จะยินยอมให้จำเลยนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือไม่นั้น "ศาลฎีกา" เห็นว่า พยานจำเลยที่เป็นผู้สื่อข่าวที่ได้เข้าสัมภาษณ์โจทก์ ไม่ได้เบิกความยืนยันถึงเรื่องนี้แต่ระบุเพียงว่า โจทก์ยินยอมให้บันทึกภาพและเสียงพูดของโจทก์เท่านั้น ถ้ายินยอมเพียงเท่านี้จะไปถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นไม่ได้ ถ้านำภาพ-เสียงของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้วจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ให้ผู้อื่น


และตามคำเบิกความของพยานจำเลย ยังฟังได้อีกว่า ขณะสัมภาษณ์โจทก์ ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะนำภาพ-เสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ จึงน่าเชื่อตามที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ยินยอมเพียงให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปออกรายการข่าวบันเทิงรายวันเท่านั้น


ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็น่าจะปฏิเสธไม่พูดเช่นนั้น "ศาลฎีกา" ก็เห็นว่า จำเลยฎีกาเช่นนี้ไม่ได้ เพราะการที่โจทก์พูดเช่นนั้นถือว่ายินยอมให้นำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ได้เนื่องจากโจทก์ไม่ยินยอม ดังนั้นการที่จำเลยนำภาพ-เสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์จนเป็นผลทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และสื่อมวลชนเข้าใจผิด คิดว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยจะย้ายไปอยู่ในสังกัดสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ตามทีเมื่อโจทก์เป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง


จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นและแม้ศิลปิน ดารานักร้องคนอื่นก็พูดเช่นเดียวกับโจทก์อย่างที่จำเลยฎีกานั้น ก็เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่เครื่องชี้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เมื่อผู้จัดการส่วนตัวของโจทก์เบิกความว่า ในการรับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ โจทก์จะคิดค่าจ้างรายละ 1 ล้านบาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายต่อชื่อเสียงให้โจทก์ เป็นเงิน 1 ล้านบาท "ศาลฎีกา" เห็นว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ให้พิพากษายืน และให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ด้วยเป็นเงิน 8,000 บาท

logoline