svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เลิกถนนคอนกรีต ซ่อม 26 จุดเสี่ยงขึ้นพะเนินทุ่ง

12 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นั่งหัวโต๊ะรับฟังความเห็นกลุ่มหนุน-ต้านปรับปรุงถนนขึ้นพะเนินทุ่งไม่อยากซ้ำรอยดอยอินทนนท์-เขาใหญ่ ได้ 2 ทางเลือก เลิกถนนคอนกรีตทั้งเส้นซ่อมเฉพาะจุดเสี่ยง หรือยกเลิกปรุบปรุงทั้งเส้น ตั้งแต่กม.ที่ 15 ปิดเส้นทางห้ามรถขึ้นถึงยอดเขา


จากกรณีที่เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า 15 องค์กร นำโดยเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ขอให้ชะลอโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนพะเนินทุ่ง (สายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง) ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่อาจด้อยคุณค่าจากการทำถนนผ่าป่าและชีวิตสัตว์ป่า ทำให้วันนี้ (12 พ.ย.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เชิญภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มาทำความเข้าใจและรับฟังความเห็น เป็นรอบที่ 2 โดยมี นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ  เป็นประธาน การรับฟังความคิด

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ อดีตส.ว.เพชรบุรี และในฐานะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือ แพค กล่าวว่า การปรับปรุงถนนบ้านกร่าง พะเนินทุ่ง ไม่ใช่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว แต่เน้นความปลอดภัย ส่วนสัตว์ป่าแก่งกระจานนั้นมีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากโครงการปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่า ทำให้ป่าแห่งนี้ซึ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์โดยป่านี้ไม่มีทุ่งหญ้า

หัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจาน  นายมานะ เพิ่มพูล กล่าวว่า ถนนที่ปรักบปรุงมีความกว้าเท่าถนนเดิมคือ 4 เมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานอุทยานแห่งชาติเพื่อให้เรือนยอดต้นไม้ชนกัน ส่วนบางพื้นที่แลนด์ไสลด์หรือต้นไม้ตายไปสามารถปลูกทดแทนได้ จึงเชื่อว่าในทางวิศวกรรมป่าไม้ และ สถาบันการศึกษา จะมีทางออกของจ้อห่วงใยต่างๆ ได้

ด้านประธานมูลนิธิต่อต้านสภาวะโลกร้อน นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวว่า ตามรายงานของหัวหน้าอุทยานฯแก่งกระจานว่าถนนมีปัญหา 26 จุด ทำไมจึงไม่หาทางออกร่วมกันว่าจะซ่อมแซมเฉพาะจุดที่เป็นปัญหา ซึ่งเชื่อว่านักอุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะยอมรับได้

ขณะที่ ประธานชมรมคนดูนกเพชรบุรี นายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล กล่าวว่า ข้อห่วงใยเรื่องตะกอนดิน ต้องหาทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไรบริเวณจุดตัดลำธาร 1-2-3 เมื่อรถวิ่งผ่านลำธาร จึงจะไม่เกิดตะกอนดิน ส่วนตัวเสนอว่า ตั้งแต่ กม.15-18 ไม่ต้องถนนคอนกรีต แต่ให้ทำสะพานข้ามอย่างเดียว ส่วนตั้งแต่ กม.18 - 36 ให้ไปช่วยกันดูว่าตรงไหนควรจะซ้อมแซมอย่างไร แต่ปัญหาตอนนี้คือผู้รับเหมาเซ็นสัญญาเป็นถนนคอนกรีตไปแล้วตลอดเส้น จึงควรมาหาวิธีกันว่าจะไม่ทำตรงไหน และไปทำตรงไหนเพื่อทดแทน

ด้านรองอธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่า จากการรับฟังความเห็น ครั้งต่อไปจะเชิญผู้ที่ไม่เห็นด้วยมาช่วยกันคิด มาช่วยกันทำให้ดีขึ้นมา ถ้าให้เป็นไปตามใจคิดส่วนตัวไม่ต้องทำอะไร ให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปเท่านั้น แต่มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงมี 2 ท่างเลือก คือ 1.ซ่อมแซม หรือทำบางจุดที่ล่อแหลมเสี่ยงอันตราย หรือไม่ปลอดภัย เพราะถนนเส้นนี้ถ้านักท่องเที่ยวขึ้นไปจะถือเรื่องความปลอดภัย พอๆ กับเรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า จะซ่อมบางจุดที่อันตราย จุดดินสไลด์จะปลูกหญ้าแฝกหรือวิธีไหน และบริเวณที่ผ่านลำธาร ควรทำแบบไหน ในการพูดคุยครั้งต่อไปให้ทุกฝ่ายมาระดมความคิดเห็นว่าจะปรับแบบไหน สามารถคุยกับผู้รับเหมาได้ ดังนั้น จึงฝากให้ม่านผู้ว่าฯ ดู เพราะเป็นงบประมาณจังหวัด ส่วนตัวเห็นด้วย และไม่อยากเห็นพะเนินทุ่งเป็นเหมือนยอดดอยอินทนนท์ และไม่อยากเห็นเหมือนเขาใหญ่ ส่วนทางเลือกที่ 2 ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การขึ้นลงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่กม.ที่ 15 ปิดเส้นทางห้ามรถขึ้นถึงยอดเขา

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะรักษามรดกทางธรรมชาตินี้ไว้ แต่ว่าในข้อเท็จจริงเป็นไปไม่ได้ และเท่าที่ฟังจากทุกคน แม้แต่ทางฝ่ายอุทยานฯ ก็ยอมรับว่า การปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตทั้งเส้นไม่เหมาะสม ต่อจากนี้ต้องมาพิจารณาว่าจะซ่อมแซมเป็นบางจุด ส่วนจะเป็นจุดไหนต้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาร่วมกัน ส่วนฝ่ายผู้รับเหมาก็พร้อมที่จะปรับตาม

logoline