svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวัง"น้ำปลาไทย"สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

12 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคน้ำปลาไทยว่าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยจากสารพิษโบทูลินัม (botulinum toxin) จากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) และสารฮีสตามีน (histamine)

นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจสอบคุณภาพน้ำปลา ตามมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 203 พ.ศ.2543 เรื่องน้ำปลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง มีการสุ่มตรวจสารพิษโบทูลินัม และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม รวมทั้งสารฮีสตามีน เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานดังกล่าว ในปี 2560 ได้รายงานผลสำรวจการปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำส่งมาตรวจวิเคราะห์ จำนวน 48 ตัวอย่าง ไม่พบสารพิษโบทูลินัมและเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในทุกตัวอย่าง และระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 ได้สำรวจปริมาณสารฮีสตามีนในน้ำปลา จำนวน 213 ตัวอย่าง พบว่าน้ำปลาแท้ 154 ตัวอย่าง ตรวจพบสารฮีสตามีนทุกตัวอย่าง มีปริมาณอยู่ในช่วง น้อยกว่า 5 ถึง 380 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมีค่าเฉลี่ย 112 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำปลาผสม 59 ตัวอย่าง พบสารฮีสตามีน 51 ตัวอย่าง ปริมาณอยู่ในช่วง น้อยกว่า 5 ถึง 136 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมีค่าเฉลี่ย 36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวัง"น้ำปลาไทย"สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค



นายแพทย์พิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า สารฮีสตามีนเป็นสารที่พบได้ในอาหารและจะพบในปริมาณมากขึ้น ในอาหารประเภทโปรตีนบางชนิดที่มีฮีสตาดีนสูงและมีการปนเปื้อนแบคทีเรียในปริมาณสูง โดยเกิดจากการที่แบคทีเรีย บางชนิดสามารถเปลี่ยนฮีสตาดีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งไปเป็นฮีสตามีน แต่ร่างกายสามารถทำลายได้ จนไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของสารฮีสตามีนจากการบริโภคน้ำปลาแท้ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อประเมินปริมาณสารฮีสตามีนที่ควรจะมีได้ในน้ำปลา ในการประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ สาขาสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (Codex Committee on Fish and Fishery Product หรือ CCFFP ครั้งที่ 30 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ณ ประเทศโมร็อกโก ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างมาตรฐานที่ประเทศไทยเสนอกำหนดค่าให้มีปริมาณ สารฮีสตามีน ได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งต่อมา Codex ได้มีการกำหนดมาตรฐานน้ำปลาให้มีปริมาณสาร ฮีสตามีนได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม (เทียบเท่ากับ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งเท่ากับมาตรฐานของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้มีสารฮีสตามีนได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่มาตรฐานของสหรัฐอเมริกากำหนดปริมาณฮีสตามีน ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำค่อนข้างต่ำ ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวัง"น้ำปลาไทย"สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค



"อย่างไรก็ตามในการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำปลานั้น ผู้ผลิตควรหาแนวทางปรับกระบวนการที่ดี ให้เป็นไปตามมาตรฐานและคงความเป็นเอกลักษณ์ของน้ำปลาไทย ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจการปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม เชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม และสารฮีสตามีนในน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าน้ำปลาไทยได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย ผู้บริโภคมั่นใจได้ในคุณภาพน้ำปลาไทย ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์ทั้งตามมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุขและมาตรฐานสากล สามารถที่จะช่วยสนับสนุนให้น้ำปลาไทย มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสามารถส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกได้" นายแพทย์พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย

logoline