svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศธ.ชี้เเจงข้อมูล ‘นักเรียนผี’ คลาดเคลื่อน ระบุ เลขบัตรปชช.ซ้ำซ้อน ไม่ใช่จำนวนเด็ก

06 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีเนชั่นทีวี เปิดโปงทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในสังกัดสพฐ. ประจำปีการศึกษา 2561 หลังมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบว่า การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนนักเรียนในสังกัดสพฐ. ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา ไปจนถึงมัธยมศึกษาเกิดความซ้ำซ้อน โดยมีการนำรายชื่อ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักของนักเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน มาเวียนขอรับงบประมาณ โดยพบนักเรียนผีที่มีรายชื่อซ้ำซ้อนกว่า 70,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงกับเนชั่นทีวีว่า ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยส่วนราชการที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาล 1 มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีทั้งหมด 18 ส่วนราชการ ได้แก่ สพฐ. สช. กศน. สอศ. สกอ. รร. มหิดลวิทยานุสรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา กรมกิจการเด็กและเยาวชน สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (กองบัญชาการกองทัพไทย) กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สถาบันการพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียนรวมทุกสังกัดทั่วประเทศ 12,696,907 คน ผลการตรวจสอบพบว่า มีจำนวนรหัส 13 หลัก ตามบัตรประจำตัวประชาชน (ไม่ใช่จำนวนนักเรียน) ซ้ำซ้อนกัน 118,659 รหัส โดยรวมทุกสังกัด ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ปัจจุบันทุกส่วนราชการ จะมีโปรแกรมตรวจสอบความซ้ำซ้อนภายในหน่วยงานของตนเอง ซึ่งจะไม่มีความซ้ำซ้อนเกิดขึ้นได้เลย เนื่องจากโปรแกรมจะทำการตรวจสอบโดยอัตโนมัติ หากมีการคีย์รหัสนักเรียนลงในโปรแกรมๆ จะไม่ยอมรับและไม่สามารถลงรหัสที่ซ้ำซ้อนได้ แต่ถ้าเป็นต่างหน่วยงานจะต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบที่ส่วนกลางจึงจะตรวจสอบพบว่าข้อมูลนั้นซ้ำซ้อนกันหรือไม่
ดังนั้น จำนวนนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นไปไม่ได้ที่จะซ้ำซ้อนภายในหน่วยงานของ สพฐ. เอง เพราะโปรแกรมจะตรวจสอบความซ้ำซ้อนโดยอัตโนมัติ และไม่ยอมให้สถานศึกษาคีย์รหัส 13 หลัก ที่ซ้ำซ้อนลงในระบบได้
"ตามที่เป็นข่าวข้างต้น ไม่ใช่ข้อความที่เป็นจริง จำนวนนักเรียนของ สพฐ. ทั้งหมดไม่ใช่ 180,000 คน และจำนวนนักเรียนที่มีตัวตนจริงไม่ใช่ 110,000 คน และส่วนที่เหลืออีก 70,000 คน เป็นนักเรียนผี ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง จำนวนข้อมูลที่ถูกต้องคือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 มีจำนวนรหัส 13 หลัก ที่ซ้ำซ้อนทุกสังกัดทั้งประเทศประมาณ 180,000 รหัส แต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 สามารถลดความซ้ำซ้อนได้จำนวน 70,000 รหัส ทำให้มีจำนวนรหัสที่ซ้ำซ้อนเหลือประมาณ 110,000 รหัส ในภาพรวมทุกสังกัดทั้งประเทศ" รองปลัดศธ.กล่าว

logoline