svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ซูเปอร์โพลเผยคนกรุงยังหนุน "อัศวิน" เป็นผู้ว่าฯกทม.

03 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

4 พย. 2561 - ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง หยั่งเสียงคนกรุง ต่อผู้ว่า กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,192 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 25 ตุลาคม 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 พบเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่ดีจาก ผู้ว่า กทม. ที่ คสช. แต่งตั้ง เช่น จัดระเบียบคืนทางเท้าให้คนเดิน ติดไฟฟ้าส่องสว่างชุมชน รื้อชุมชนคืนพื้นที่ ความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 39.8 ไม่มีอะไรใหม่ และร้อยละ 3.6 ระบุแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาเร่งด่วนให้ ผู้ว่า กทม. แก้ไข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 ระบุ ปัญหารถติด จัดระเบียบจราจรทั้งระบบ รองลงมาคือ ร้อยละ 63.5 ระบุปัญหายาเสพติดในชุมชน โรงเรียน คอนโด หอพัก ร้อยละ 61.3 ระบุ แก้อุบัติเหตุ อันตรายคนข้าม รถไม่ยอมจอด สัญญาไฟเสียบ่อย ร้อยละ 58.6 ระบุ ติดกล้องใหม่ ซ่อมกล้อง CCTV ที่ชำรุด ร้อยละ 55.7 ระบุ มลพิษ คลองน้ำเน่า ขยะเน่าเหม็น รถขนขยะทำขยะตกหล่น ร้อยละ 53.3 ระบุ สุขอนามัยของคนกรุง อาหาร สะอาดปลอดภัย ร้อยละ 49.1 ระบุ จัดระเบียบสถานบันเทิง ห่างไกลสถานศึกษาและชุมชน ร้อยละ 44.7 ระบุ ดูแลผู้พิการ คนสูงอายุ เดินทางสะดวกปลอดภัย และร้อยละ 20.8 ระบุอื่น เช่น น้ำท่วมขังเน่าเหม็นในชุมชน กำจัดยุง ติดไฟส่องสว่างเพิ่ม มีสายตรวจชุมชนเพิ่มปลอดภัย จัดระเบียบป้ายโฆษณา และลงพื้นที่บ่อยขึ้น เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ ความเห็นต่อ การติดป้ายเตือนสติคนขับรถทุกทางข้าม (ทางม้าลาย) เพิ่มความปลอดภัยให้คนข้ามถนนบนทางข้ามว่า "ตามกฎหมาย ต้องหยุดรถให้คนข้ามบนทางข้าม (ทางม้าลาย) " พบว่า ร้อยละ 91.7 เห็นด้วย ในขณะที่เพียงร้อยละ 8.3 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง การสนับสนุน ผู้ว่า กทม. จากการแต่งตั้งของ คสช. ให้ทำงานต่อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 สนับสนุน ในขณะที่ ร้อยละ 24.1 ไม่สนับสนุน
ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ที่ดีเกิดขึ้นในผลงานของ ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน แต่ยังอาจจะทำให้เห็นชัดขึ้นกว่านี้ได้อีกโดยอาศัยความเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปราบปรามและความปลอดภัยของประชาชนมาใช้ให้คนกรุงเทพฯ ได้เห็นกว้างขวางมากขึ้น เช่น ปัญหารถติด ปัญหายาเสพติด และความไม่ปลอดภัยของคนเดินถนนเวลาข้ามบนทางข้ามหรือทางม้าลาย ที่รถไม่ยอมจอด เพราะในต่างประเทศจะมีป้ายเตือนเด่นชัดไปทั่วเมืองตรงจุดทางม้าลายเตือนสติคนขับรถให้จอดและมีตำรวจคอยจับกุมรถที่ไม่จอด หากทำแบบนี้ทั่วกรุงเทพฯ ก็จะทำให้คนกรุงเทพฯ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแบบง่าย ๆ แต่จะจดจำได้อย่างยั่งยืน

logoline