svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) แพทย์จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมรักษามะเร็งสำเร็จ

24 ตุลาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวนวัตกรรมรักษาโรคมะเร็งได้สำเร็จ เผยอยู่ระหว่างขั้นตอนผลิตยาในระยะที่ 1 และกำลังเข้าสู่ระยะที่2 ในการาพัฒนาประสิทธิภาพของยา

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร กับ M.D. Anderson Cancer Center มหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันการแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาชั้นนำของโลก ทำวิจัยเพื่อสร้างผลงานนวัตกรรมต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง ล่าสุดจุฬาฯได้อนุมัติงบประมาณ 160 ล้านบาท/3 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ทว่าการลงทุนเพื่อผลิตยาต้องอาศัยทุนจำนวนมหาศาล คณะแพทยศาสตร์ได้ตั้งบัญชีเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยมาแล้วหลายปีอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้นับเป็นประวัติการณ์ที่ภาคประชาชนมีความสนใจสนับสนุนงานวิจัยอย่างล้นหลาม ทางคณะแพทย์จุฬา รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของประชาชนคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมส่งกำลังใจและร่วมบริจาคเข้ามา

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาฯ บอกว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้การต่อสู้กับโรคมะเร็งมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก จากความรู้ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น

โรคมะเร็งที่มีข้อมูลว่าสามารถการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้ผลดีมากได้แก่ มะเร็งไฝดำของผิวหนัง (melanoma) ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยมะเร็งไฝดำที่โรคแพร่กระจายไปหลายอวัยวะ จะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ด้วยการให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดสองชนิดร่วมกัน มีผู้ป่วยส่วนมากจะอยู่ได้นานกว่า 2 ปี และพบผู้ป่วยมีชีวิตเกิน 5 ปีได้มากกว่า 1 ใน 3 และยังคงควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งส่วนศีรษะและคอ มะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับฮอร์โมนและ HER2 มะเร็งเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ มะเร็งตับ สามารถที่จะมีการตอบสนองต่อยาต้าน PD-1 หรือ PD-L1

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า เนื่องจากขณะนี้เราต้องนำเข้ายาแอนติบอดีรักษามะเร็งจากต่างประเทศ 100% ดังนั้นยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพงมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อราย การผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาให้ต่ำกว่ารายละ 1 ล้านบาท สามารถเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีราคาถูกลงได้

ดังนั้นในเฟสที่สองนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าการพัฒนาแอนติบอดีในเฟสที่สองประสบความสำเร็จ ในเฟสที่สามจะเป็นการผลิตยาในโรงงานเพื่อให้ได้ยาในปริมาณมากซึ่งจะใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 18 เดือน และต้องการเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท หลังจากนั้นในเฟสที่สี่จะเป็นการทดสอบยาในสัตว์ทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพและผลข้างเคียงซึ่งต้องใช้เวลาทดสอบประมาณสองปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 100 ถึง 200 ล้านบาท และในขั้นสุดท้ายเฟสที่ห้าจะเป็นการทดลองในมนุษย์ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4-5 ปี และต้องการเงินลงทุนประมาณ 1000 ล้านบาท

logoline