svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้

22 ตุลาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้ จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ ในประเทศไทย ปี 2559 พบผู้ป่วยหญิงเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุดอันดับ 1 โดยตัวเลขจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมาในปี 2555 มีอัตราผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมกว่า 37.5% ถัดมาได้แก่ มะเร็งปากมดลูก 14.4% และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 9.6% ตามลำดับ

แม้มะเร็งเต้านมจะกลายเป็นโรคอันดับ 1 ที่พบมากในผู้หญิง แต่อัตราการเสียชีวิตกลับน้อย และมีชีวิตอยู่ได้นานเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เนื่องจากคนสมัยใหม่นิยมดูแลตัวเองมากขึ้น มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองและจากแพทย์ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมด้วยแมมโมแกรม ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 33% นั้นหมายถึง หากตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก และได้รับการรักษาตามมาตรฐานจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็มีโอกาสหายขาด และสำหรับผู้ชาย มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็มีส่วนน้อยเพียง 1% เท่านั้น

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้



ตรวจเจอเร็วรักษาทัน
          นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และสมาชิกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การพบมะเร็งเต้านมในคนไทยและคนต่างชาติโดยส่วนใหญ่จะเจอในลักษณะที่คล้ายกัน แต่จะมีกลุ่มพิเศษคือ กลุ่มคนผิวสี หรือในเชื้อสายยิว มักเจอมะเร็งในกลุ่ม Triple Negative ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงและมักเกิดในคนไข้อายุน้อย สำหรับผู้หญิงที่เสริมหน้าอกซิลิโคนไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ปัญหาจริงๆ คือ การตรวจคัดกรอง เพราะอุปกรณ์เสริมจะไปบดบังทำให้การแปรผลการตรวจของแมมโมแกรมผิดพลาดและยากต่อการวินิจฉัย หรือแม้กระทั่งการตรวจด้วยการคลำก็จะค่อนข้างยาก เรียกว่าเป็นอุปสรรคมากกว่า


          นพ.ไนยรัฐ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของอาหารที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมแบบเฉพาะเจาะจงยังไม่มี แต่อาจจะเป็นทางอ้อมที่มาจากของมัน ของทอด ของปิ้งไหม้ ในส่วนของนมถั่วเหลืองที่มีการถกเถียงกันมาก่อนหน้านี้ ทางการแพทย์ระบุว่าไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงสามารถดื่มได้ปกติ และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้

นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข


ทั้งนี้ ปัจจุบันวิวัฒนาการและเทคโนโลยีการรักษาก้าวหน้าไปมาก ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาตั้งแต่ การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และการผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน หรืออนุรักษ์เต้านม ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ป่วยที่ให้ความสำคัญกับความสวยงาม แต่ไม่สามารถทำได้กับผู้ป่วยที่มีการกระจายของรอยโรคมะเร็งจำนวนมาก หากผ่าตัดในระยะแรกๆ มีโอกาสหายขาดกว่า 10 ปีหรือ 90% ขึ้นไป 

การฉายแสง คือ ให้แสงที่มีประจุทำลายเซลล์มะเร็งได้ในบริเวณที่ได้รับการฉายแสง เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยไม่ทำให้ผิวหนังโดยรอบเกิดการไหม้ และ เคมีบำบัด เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดแล้วแต่ระยะของโรคทุกๆ 3 สัปดาห์ ผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาสู่การให้ "ยามุ่งเป้า" (Targeted Therapy) ที่มีประสิทธิภาพสูงโดยมีการใช้แพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ผลข้างเคียงน้อย ออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่ค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน

สำหรับการตรวจคัดกรอง นพ.ไนยรัฐ ให้คำแนะนำว่า ควรตรวจตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงและประวัติครอบครัวไม่มีใครเป็นมะเร็ง เพราะประโยชน์จากการตรวจคัดกรองจะลดอัตราการเสียชีวิตจากการเกิดมะเร็งเต้านมสูงถึง 33% สามารถทำได้โดยการตรวจเต้านมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำแมมโมแกรม นอกจากนี้ ควรตรวจก้อนเต้านมด้วยตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง หากเจอสิ่งผิดปกติจะได้รักษาทัน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คือ ก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากไม่มั่นใจให้พบแพทย์

ด้าน เภสัชกรหญิง นฤมล ฉินกมลทอง ผู้ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ว่า หลังจากที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อ 3 ปีก่อน ได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบอนุรักษ์เต้า ฉายแสง และเคมีบำบัด รวมถึงการให้ยามุ่งเป้าจำนวน 18 เข็มจนจบคอร์สเมื่อต้นปี แม้ปัจจุบันโรคสงบลงแต่ก็ยังต้องติดตามผลอยู่ตลอดและรับประทานยาต่อเนื่อง 5 ปีเป็นอย่างต่ำ

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้

เภสัชกรหญิง นฤมล ฉินกมลทอง

"ตอนนั้นคิดเลยว่าถ้าต้องผ่าตัดยกเต้าออกก็โอเค เพราะเรื่องความสวยงามเป็นเรื่องภายนอก แต่การรักษาชีวิตรอดเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ในช่วงให้เคมีบำบัดโชคดีที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเตรียมตัวมาดี กินอาหารให้ครบทั้งผัก ผลไม้ และโปรตีนต้องถึง พยายามทำจิตใจให้ดี พอร่างกายเราแข็งแรงไปรับยาเคมีบำบัด ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนี้ ต้องกินอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่ ป้องกันการติดเชื้อ เลี่ยงอาหารรสจัด เพราะระหว่างการให้คีโมจะมีแผลในปาก ผลไม้บางอย่างต้องระวังสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับเปลือก ปัจจุบัน ได้ปรับพฤติกรรมการกิน โดยงดของปิ้งย่างและเปลี่ยนไปรับโปรตีนจากเนื้อปลาแทน"

"สำหรับแพทย์ทางเลือก ในฐานะเภสัชกรถามว่าเลือกได้ไหม เลือกได้ แต่ยังไงก็ต้องเลือกแพทย์ทางหลักไว้ก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะใช้ยาสมุนไพร แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ก่อนว่าถ้าเราจะใช้จะมีผลกระทบต่อการรักษาหลักของเราหรือเปล่า ถ้าคุณหมออนุญาตก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าคุณหมอห้าม ก็ต้องคุยกันเพื่อหาข้อสรุปชัดเจนอีกทีหนึ่งว่าเราจะเลือกใช้ทางไหน" นอกจากนี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจิตใจเราไม่เข้มแข็งมันก็จะยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าเราพร้อมกับตรงนี้ มันจะผ่านพ้นไปด้วยดี" นฤมล กล่าวทิ้งท้าย

มะเร็งเต้านมพบมากแต่รักษาได้


ต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูลโรคมะเร็งได้ที่เว็บไซต์ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย : www.thethaicancer.com 

และแอพพลิเคชั่น "Pink Alert" ซึ่งรองรับทั้งระบบ IOS และ Android
 

logoline