svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สสจ.ยะลา โรคหัดระบาดหนัก!!! เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

10 ตุลาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา นายชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคหัดในจังหวัดยะลาขณะนี้ มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำพบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก


ข้อมูลในช่วงวันที่ 1 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2561 พบมีผู้ป่วยจำนวน 341 ราย  มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายทุกอำเภอ   โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอยะหา จำนวน 93ราย  รองลงมาอ.บันนังสตา 54ราย  อ.ธารโต  52ราย  กรงปินัง และกาบัง 39ราย  อำเภอเมืองยะลา  38ราย รามัน21ราย  และอ.เบตง 5 ราย  โดยพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว  5  ราย  แบ่งเป็นที่ อ.กรงปินัง 3 ราย   อ.บันนังสตา 1 ราย และ อ.ธารโต  1 ราย 
"โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น"นายชัยวัฒน์ กล่าว 

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการควบคุมการระบาดโรคหัดในพื้นที่จังหวัดยะลา ใช้มาตรการ 323 คือ หาให้ครบ  ฉีดให้ทัน   มีการระดมสรรพกำลังบุคลากรและวัคซีน ลงพื้นที่เชิงรุก ดำเนินการ วินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชม. เพื่อลงสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วันในส่วนของผู้สัมผัสโรค มี 4  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย   กลุ่มที่อยู่โรงเรียนและที่ทำงาน ทำภารกิจร่วมกันเป็นประจำ  กลุ่มผู้ที่อยู่ใกล้ชิด คลุกคลี  และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลสัมผัสผู้ป่วย การป้องกันจึงเน้นย้ำหลีกเลี่ยงการคลุกคลี สัมผัสกับผู้ป่วย และหากเป็นผู้สัมผ้สใกล้ชิดผู้ป่วยโดยเฉพาะในช่วง 5 วันก่อนออกผื่นและ4 วันหลังออกผื่น ให้พบแพทย์พร้อมให้ประวัติการรับวัคซีน โดยให้นำสมุดประว้ติรับวัคซีนไปด้วย เพื่อการพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีโปรแกรมให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปี ครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และในช่วงการระบาด  ขอให้ประชาชน พ่อแม่  ผู้ปกครองมีการเฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำ  เบื้องต้น     ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลามีการเปิดศูนย์บัญชาการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC)ในการควบคุมป้องกันการระบาดโรคหัดอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

logoline