svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

เผยคนวัยทำงานในกทม. 45% ถูก "ความเครียดขโมยความสุข"

28 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.61 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาสุขภาพจิตประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข ตั้งเป้าจะขยับอันดับความสุขของคนไทยเป็นอันดับ 26 ในพ.ศ. 2579


ซึ่งหากคนไทยมีความสุขสูงขึ้น จะมีผลต่อสุขภาพกาย ประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น อัตราการป่วยจากโรคเรื้อรังอาจลดลง ประสิทธิภาพการทำงานจะสูงขึ้น สังคมจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ ประชาชนยิ้มแย้มเป็นมิตรกัน โดยบูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยเข้าสู่ระบบสุขภาพอำเภอและเครือข่ายในพื้นที่กทม.ควบคู่กับงานทางกาย เน้นหนักที่การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ความสุข โรคซึมเศร้า ความเครียด การฆ่าตัวตาย และเรื่องการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงต่างๆในสังคม โดยมีศูนย์สุขภาพจิต 13 เขตสุขภาพรวมทั้งกทม. เป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงาน โดยเฉพาะในวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีประมาณ 39 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ เป็นกำลังหลักสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ มุ่งเน้นการส่งเสริมให้วัยทำงานมีความสุขในการดำเนินชีวิตทั้งในที่ทำงานและครอบครัวอย่างสมดุล


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่กทม.นั้น ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่นประมาณ 10 ล้านคน เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่กว่าเขตสุขภาพอื่นๆที่มีประชากรประมาณ 5-6 ล้านคน ล่าสุดนี้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. กรมสุขภาพจิตได้สำรวจสุขภาพใจคือความสุขและความเครียดของประชาชนวัยทำงานอายุ 15-60 ปี ที่อยู่ในพื้นที่ 50 เขตในกทม. ทุกสาขาอาชีพ ในเดือนกรกฎาคม 2561-สิงหาคม 2561 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,261 คน ผลสำรวจปรากฏดังนี้


ในด้านความสุขตามเกณฑ์มาตรฐานกรมสุขภาพจิตที่มีคะแนนเต็ม 45 คะแนน พบประชาชน มีความสุขในเกณฑ์ปกติเท่ากับคนทั่วไป คือมีค่าคะแนน 28-34 คะแนนร้อยละ 49.36 มีคะแนนสูงกว่าคนทั่วไปคือ 35-45 คะแนน ร้อยละ 18.53 สรุปรวมทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสุขอยู่ในดับดีร้อยละ 67.89 ที่เหลืออีกร้อยละ 32.11 มีความสุขอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ คือต่ำกว่า 27 คะแนนลงมา เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในระดับประเทศในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อพ.ศ. 2558 พบว่าสัดส่วนคนกทม.มีความสุขน้อยกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 83.6 และสัดส่วนคนกทม.มีค่าความสุขในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 16.4 หรือมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว


ส่วนด้านความเครียด ซึ่งมีคะแนนรวม 15 คะแนน ผลพบว่า มีความเครียดระดับน้อยคือคะแนนต่ำกว่า 4 คะแนนลงมาซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่พบได้ในคนปกติมีร้อยละ 55ที่เหลืออีกร้อยละ 45 มีความเครียดผิดปกติ โดยมีความเครียดระดับปานกลางคะแนน 5-7 คะแนน ร้อยละ 29 เครียดระดับมากคะแนน 8-9 คะแนน ร้อยละ 8 และเครียดระดับมากที่สุดคะแนน 10-15 คะแนน ร้อยละ 8


ทางด้านนายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่13กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจครั้งนี้ เรื่องที่ทำให้ประชาชนใน กทม. มีความเครียดในปัจจุบัน 3 อันดับแรก อันดับ 1 คือเศรษฐกิจร้อยละ 30.82 ชายหญิงใกล้เคียงกัน อันดับ 2 คือสังคมร้อยละ 20.29 และอันดับ 3 ครอบครัว ร้อยละ 14.52 สาเหตุที่ทำให้เครียด อันดับ1 คือ ปัญหาการเงิน รายได้ไม่พอร้อยละ 17.92 อันดับ 2 ความวิตกกังวลร้อยละ 14.23 อันดับ 3 ปัญหาค่าครองชีพร้อยละ 12.97 อันดับ 4 คือปัญหาครอบครัวร้อยละ 9.08 และยังพบมีความเครียดมาจากการเสพข่าวมากเกินไปและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยร้อยละ 13.21


ผลของความเครียด ทำให้กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 4 มีปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ เช่นนอนไม่หลับหรือนอนมาก พบในผู้หญิงร้อยละ 26 ผู้ชายพบร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังทำให้หงุดหงิด ว้าวุ่นใจ ร้อยละ 22.87 รู้สึกเบื่อเซ็งร้อยละ 22.56 สมาธิน้อยลงร้อยละ 16.86 มีความรู้สึกไม่อยากพบผู้คนบ่อยครั้งร้อยละ 10.97 สำหรับวิธีการจัดการความเครียดที่ประชาชนกทม.ใช้มากที่สุด คือทำใจให้สบาย/ปล่อยวางร้อยละ 20.92 รองลงมาคือชมภาพยนตร์ ชมละคร ร้อยละ 15.80 และเข้าวัดทำบุญ ใส่บาตร ไหว้พระร้อยละ8.56ออกกำลังกายร้อยละ 6.62 ท่องเที่ยวร้อยละ 5.52 หาที่ปรึกษา หาเพื่อนคุยร้อยละ 4.99


นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 นี้ศูนย์สุขภาพจิตที่13จะเร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับกทม.ทั้ง 50 เขตและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆอย่างใกล้ชิด และพัฒนาความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขในกทม.และขยายผลถึงผู้นำชุมชนต่างๆด้วย รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการข้อมูลความรู้สุขภาพจิตที่ง่ายขึ้นของประชาชนทุกกลุ่มซึ่งสภาพที่อยู่อาศัยมีหลายรูปแบบและเหมาะกับสภาพวิถีชีวิต เพื่อดูแลส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต


ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนวัยทำงานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างสำรวจครั้งนี้ เป็นชายร้อยละ 38 หญิงร้อยละ 62 สถานภาพโสดร้อยละ 47 สมรสร้อยละ 43 หย่าร้างร้อยละ 7 หม้ายร้อยละ 3 ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 37 ไม่ได้เรียนร้อยละ 1.90 อาชีพมีทั้งนักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ รับจ้างทั่วไป พนักงานบริษัทเอกชน ค้าขาย ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ว่างงาน และเกษตรกร มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 16 รายได้ 5,000-25,000 บาท ร้อยละ 69 ทีรายได้ 25,001-35,000 บาทร้อยละ 10 และมากกว่า 35,000 บาทร้อยละ 6 เป็นผู้มีโรคประจำตัวร้อย 24 ไม่มีหนี้สินร้อยละ 44 มีหนี้สินที่กระทบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถจัดการได้ร้อยละ 4

logoline