svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์ "สะพานประสานใจ"

04 กันยายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวบ้านนากวาง อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ประสานใจพัฒนาทุ่งนาเขียวขจี 2 พันไร่ เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ชูไฮไลท์ "สะพานประสานใจ" ยาวกว่า 200 เมตร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว-ให้เยาวชนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชาวนาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทุ่งนาเขียวขจีกว่า 2,000 ไร่ ติดเชิงเขาภูช้างน้อย ซึ่งเป็นนาข้าวที่เกิดจากการลงแขกดำนาของชาวบ้านนากวาง หมู่ 3 ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ กำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิถีชีวิตชาวนาไทย แห่งใหม่ของ จ.อุตรดิตถ์ และภาคเหนือตอนล่าง เมื่อชาวบ้านนากวาง ประสานใจเป็นหนึ่งเดียว ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาหมู่บ้าน และนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ความดั่งเดิมของชุมชน ผสมผสานวิถีเกษตร สร้างจุดเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชาวนาไทย ที่เปรียบเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"



นายเปรียญ อินทรวรรณ ผู้ใหญ่บ้านนากวาง กล่าวว่า ตนพร้อมชาวบ้านนากวาง ภูมิใจนำเสนอ "สะพานประสานใจ" ซึ่งเป็นสะพานที่ใช้ไม้ไผ่สานต่อกันเป็นทางเดินทอดยาวไปกลางทุ่งนากว้าง 1.5 เมตร ยาวกว่า 200 เมตร คดเคี้ยวไปตามลำน้ำเหมือง กลายเป็นจุดไฮไลท์ที่ทุกคนเห็นแล้วชื่นชอบ ต้องเก็บภาพเป็นที่ระลึก พร้อมเดินชมบรรยากาศ ความสดชื่นของอากาศที่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นไอของชนบท

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"


"ชุมชนนากวาง ทำนาแบบดั่งเดิม เป็นนาดำจากการลงแขกของชาวบ้าน แต่ละแปลงติดกันเป็นผืนกว้างสุดลูกหูลูกตา จากหมู่บ้านติดเชิงเขาภูช้างน้อย เป็นภูเขาที่มีรูปร่างคล้ายช้าง และเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แหล่งอาหารตามฤดูกาลของชุมชน เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักกูด ผักหวาน และมีเป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำตกที่สวยงาม คือน้ำตกตาดกวาง ชาวบ้านจึงสร้างลำเหมืองแท่นปูนซีเมนต์ คล้ายคลองส่งน้ำ ลััดเลาะตามแปลงนา แต่ด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่ หรือลูกหลานในชุมชน น้อยที่จะสนใจ อาชีพดั่งเดิมของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะการทำนา เมื่อนากวาง มีปัจจัยหลัก จึงเกิดแนวคิด ดึงคนรุ่นใหม่รักษ์บ้านเกิด รักษ์อาชีพเกษตรกรรม"นายเปรียญ กล่าว


แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"



ด้วยการปรับนาข้าว ให้กลายเป็นศูนย์รวมของวิถีชาวนา โดยช่วยกันนำไม้ไผ่มาสานเป็นสะพาน วางบนลำเหมือง โดยผู้ชายเข้าป่าตัดไม้ ผู้หญิงช่วยกันสาน ใช้เวลาสร้าง 5 วัน เป็นสะพานที่ไม่ใช้งบประมาณจากส่วนราชการใดมาช่วย หลังสร้างเสร็จไม่ถึง 1 เดือน พบว่าได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี คือ เป้าหมายลูกหลานรักหวงแหนชุมชน ยังพบว่า ประชาชน นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวมากกว่าวันละ 500 คน จากชุมชนปิด ห่างไกล ตอนนี้คึกคัก

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"


นายเปรียญ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านจึงต่อยอดด้วยการเปิดตลาดวิถีชุมชนคนนากวางขึ้น ใกล้สะพานไม้ขัดแตะ นำอาหารพื้นบ้าน ผักปลอดสารพิษและของป่าตามฤดูกาลมาจำหน่าย โดยเฉพาะมาแล้วต้องไม่พลาด คือ ข้าวจี้โบราณ ไก่หลาม แกงเปรอะหน่อไม้ แกงเห็ดป่า จิ้มข้าวเหนียวร้อนๆ บนแคร่ไม้ไผ่ กระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือน สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นคณะ สามารถสั่งอาหารพื้นถิ่นไว้รับประทานได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้ชาวบ้าน และลูกหลานเห็นว่า จริงๆแล้ว วิถีชีวิต วิถีเกษตร สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และ สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"

แลนด์มาร์คใหม่อุตรดิตถ์  "สะพานประสานใจ"

logoline